วันที่ 12 พ.ย. น.ส.เฉลิมศรี ประเสริฐศรี นักกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้รับการแจ้งว่า การยื่นอุทธรณ์ในคดีโครงการเขื่อนปากแบง ได้เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยมีผู้ฟ้องคดีคือ กลุ่มรักษ์เชียงของ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว รวม 4 ราย และผู้ถูกฟ้องคดี คือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง อย่างไรก็ตาม ได้ยื่นอุทธรณ์และศาลปกครองสูงสุดได้รับเข้าสู่การพิจารณา

น.ส.เฉลิมศรีกล่าวว่า เหตุผลที่ใช้อุทธรณ์ครั้งนี้เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาและประกอบอาชีพอยู่ในอ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากแบงมากที่สุด เนื่องจากอยู่ห่างจากโครงการเพียง 97 กิโลเมตร และยังมีจังหวัดที่ติดริมน้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบอีก 7 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยที่แม่น้ำโขงมีระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ การมีอยู่ของแม่น้ำโขงก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีด้านเศรษฐกิจ สังคม และมาตรฐานการครองชีพของประชาชน

น.ส.เฉลิมศรี กล่าวว่า หากมีการก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบงขึ้นบนแม่น้ำโขงย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ได้รับความเดือดร้อนหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นผลจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนจัดการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ครอบคลุม ครบถ้วน และไม่ได้สัดส่วน ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ถือได้ว่า ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงทั้ง 8 จังหวัด รวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้ง4ด้วย

น.ส.เฉลิมศรี กล่าวว่า ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย ข้อตกลงการใช้น้ำแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไข โดยมีหน้าที่ให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และรัฐบาลไทย ที่จะแจ้งให้ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการ ความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อรัฐและต่อประชาชนในประเทศไทย แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านครอบคลุม ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อประกอบให้ความเห็นคัดค้านและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา อันเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีตามกฎหมาย เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นเป็นหน้าที่สำคัญต่อทั้งความมั่นคงของรัฐและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนชาวไทย แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการดังกล่าว โดยที่อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นการกระทำทางปกครองที่ส่งผลกระทบหรืออาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงเป็นสิทธิของผู้ฟ้องที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล และไม่ใช่อำนาจบริหารหรือกิจการภายในที่ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง

น.ส.เฉลิมศรีกล่าวอีกว่า สำหรับการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะอื่นนั้น แม้ว่าการเจรจาตกลงกันจะอยู่ในลักษณะเชิงธุรกิจพาณิชย์ก็ตาม แต่วัตถุประสงค์ของสัญญาดังกล่าว เป็นการทำสัญญาขึ้นเพื่อจัดการบริการสาธารณะ และจะต้องมีการดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุมเกี่ยวกับกิจการพลังงาน อีกทั้ง การดำเนินการจัดซื้อไฟฟ้าเป็นอำนาจหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจึงถือว่าเป็นสัญญาทางปกครองชนิดหนึ่งที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล เพื่อเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

“เราเชื่อว่าการอุทธรณ์นี้จะได้รับการพิจารณาในแนวทางเดียวกับคดีเขื่อนไซยะบุรีที่รับฟ้อง เพราะเป็นแนวทางเดียวที่ประชาชนจะได้รับความคุ้มครองจากการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับกรณีผลกระทบข้ามพรมแดน ที่รัฐมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและปกป้องคุ้มครองประชาชน” ทนายความกล่าว

อนึ่ง โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน (Run Off River) ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง 14 กิโลเมตร ในแม่น้ำโขง ลักษณะของเขื่อนปากแบงประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดือนเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู

โรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน