วันที่ 17 พ.ย. นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทย และที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในคืนนี้จะมีปรากฏการณ์ด้านดาราศาสตร์ เกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์ ผู้สนใจดาราศาสตร์สังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนนี้ (17 พ.ย.) ต่อเนื่องไปถึงรุ่งเช้าของวันที่ 18 พ.ย. จากกลุ่มดาวสิงโต จะเห็นฝนดาวตกโผล่พ้นจากขอบฟ้า เริ่มหนาแน่นในเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 18 พ.ย. ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด คือเวลาประมาณ 02.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กลุ่มดาวสิงโต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก

ส่วนสถานที่ในการชมฝนดาวตก ควรเป็นสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะสังเกตดาวตกมีความสว่างมาก วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุด ให้นอนรอชมเนื่องจากช่วงที่เกิดฝนดาวตกจุดศูนย์กลางจะอยู่เหนือท้องฟ้ากลางศีรษะพอดี

ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก โดยมีความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก” ในปีนี้คาดมีจำนวนฝนดาวตกปะทะโลกสูงสุด 20 ดวง/ชั่วโมง มองหลากสี อาทิ เขียว , เหลือง,แดง

ส่วนการจัดชมปรากกการณ์ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ ฉะเชิงเทรา หอดูดาวภูมิภาคประจำภาค ตะวันออก ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ไม่ได้จัดกิจกรรม เนื่องจากเจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมดถูกระดมไปจัดงานดาราศาสตร์ลิมปิค ระดับโลกที่ จ.ภูเก็ต คนที่สนใจชมปรากฏการณ์ ให้ชมเองตามสนใจ แต่จะมีกิจกรรมชมฝนดาวตก เจมินิดส์ส่งท้ายสิ้นปี ในวันที่ 14 ธ.ค. นี้

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน