3 ผู้ถูกกล่าวหา คาร์ม็อบภูเก็ต เข้าพบ ตร.ตามหมายเรียก เจอฟัน 9 ข้อหายาวเป็นหางว่าว มึนอีกฝ่ายไม่โดน ด้านผู้สังเกตการณ์พรรคก้าวไกลปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 ที่ สภ.เมืองภูเก็ต ผู้ถูกกล่าวหาในคดีคาร์ม็อบภูเก็ต จำนวน 3 คน ได้แก่ ผู้สังเกตการณ์จากพรรคก้าวไกล 1 คน คือนายเฉลิมพงศ์ แสงดี และเยาวชน 2 คน เดินทางมายัง สภ.เมืองภูเก็ต เพื่อพบพนักงานสอบสวนและรับทราบข้อกล่าวหาความผิดฐาน “มั่วสุมกันเกิน 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน” ตามหมายเรียกของ สภ.เมืองภูเก็ต ลงวันที่ 26 ก.ค. 2564

โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลรักษาความปลอดภัยเข้มงวด มีการตั้งจุดตรวจบริเวณถนนโดยรอบที่ตั้ง สภ.เมืองภูเก็ต พร้อมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ร่วมกับฝ่ายปกครอง ตั้งจุดคัดกรองก่อนเข้าสู่ตัวอาคาร เนื่องจากมีการประกาศเชิญชวนให้มาร่วมให้กำลังใจผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ โดยมีผู้มาร่วมให้กำลังกำลังใจผู้ถูกกล่าวหาประมาณ 15 คน

ทั้งนี้ มีการระบุพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 9 ข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน “รวมกลุ่มมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง”, “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร”, “ส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร”

“ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร”, “ร่วมกันก่อความเดือดร้อนรำคาญในสถานที่สาธารณะ”, “ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร”, “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่”, “ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาด” และ “ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพรโรค ในพื้นที่ที่มีประกาศ หรือคำสั่งกำหนดเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูง”

สืบเนื่องจากการนัดรวมตัวกันทำกิจกรรม “คาร์ม็อบภูเก็ต # บีบให้เทือน” ที่บริเวณวงเวียนสะพานหิน อ.เมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 24 ก.ค. จากนั้นม็อบได้เคลื่อนขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือให้ผู้ว่าฯ โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ ให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชน, ให้มีการนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพมาแจกจ่ายให้ประชาชนทุกคนให้เท่าเทียมกัน, ประกันรายได้ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม และให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข

นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาคนที่ 1 ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับทนายความในช่วงเช้า (25 ส.ค.) และให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยจะมีการชี้แจงรายละเอียดเป็นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ยืนยันว่า เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสันติมีการขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อไปยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าฯ ภูเก็ต ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และอยากถามกลับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มีอีกกลุ่มชุมชนที่มีการเตรียมการทั้งป้ายข้อความและรถขยายเสียง แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี จึงอยากฝากให้ปฏิบัติอย่างเที่ยงธรรมและสุจริต

ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีก 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน (25 ส.ค.) พร้อมด้วยทนายความและผู้ปกครอง ซึ่งในการสอบปากคำทั้ง 2 คนนั้น มีการแยกสอบและมีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพร่วมสอบด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน