เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. พระมหาธนศักดิ์จินตกวี เลขานุการเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) และนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผวจ.พิษณุโลก เชิญชวนพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว เข้ากราบไหว้พระพุทธชินราช เนื่องในโอกาสช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พร้อมเปิดเผยข้อมูล ว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) วัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวพิษณุโลก ตั้งอยู่ถ.พุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัด เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ซึ่งมีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวเอาไว้ว่า “เป็นวัดใหญ่และวัดสำคัญกว่าวัดอื่นในเมืองพิษณุโลก มีพระมหาธาตุรูปพระปรางค์อยู่กลาง เห็นจะสร้างแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานีหากแต่ซ่อมแซมมาหลายครั้งหลายสมัย”เป็นสถานที่ประดิษฐานของ “พระพุทธชินราช”

พระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในโลก เป็นประติมากรรมชั้นสูงสุดแห่ง “พุทธศิลป์” สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) ในปี พ.ศ.1898 พร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ประวัติกล่าวขานสืบต่อกันมาว่า ในการหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ปรากฏว่า หล่อสำเร็จองค์พระสวยงามสมบูรณ์ดีได้เพียงสององค์เท่านั้น คือ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธชินราชต้องทำหุ่นและแบบหล่อใหม่อีก 2 ครั้ง ก็ยังไม่สำเร็จเป็นองค์พระได้ กล่าวคือ ทองแล่นไม่ติดเต็มองค์ เมื่อแกะแบบหล่อออกองค์พระจึงไม่สมบูรณ์มีตำหนิ

พระมหาธรรมราชาจึงทรงตั้งจิตอธิฐานขอให้ทวยเทพยดาจงช่วยดลใจให้สร้าง พระพุทธชินราช สำเร็จตามพระประสงค์ด้วยเถิด จนกระทั้งในปี พ.ศ.1900 ได้ทำพิธีเททองอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้พระอินทร์จึงนฤมิตเป็น “ตาปะขาว” ลงมาช่วยทำรูปพระคุมพิมพ์ ปั้นเบ้า และเททองด้วยตนเอง ด้วยอานุภาพพระอินทราธิราชเจ้า ทองก็แล่นรอบคอบบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ พระมหาธรรมราชาทรงปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสให้หา “ตาปะขาว” ผู้นั้นแต่ตาปะขาวได้หายตัวไปทางทิศเหนือของเมือง

ซึ่งบริเวณที่ตาปะขาวหายตัวไปจึงได้ชื่อว่า “หมู่บ้านตาปะขาวหาย หรือชีปะขาวหาย” จนถึงทุกวันนี้ และได้ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการหายตัวไปของตาปะขาวเล่ากันว่า มีผู้พบเห็นว่าท้องฟ้าเปิดเป็นช่องขึ้นไป ชาวบ้านเห็นเป็นที่อัศจรรย์จึงได้สร้างศาลาขึ้นไว้ ณ พื้นดินเบื้องล่างเป็นที่ระลึก เรียกว่า “ศาลาช่อฟ้า” ตราบจนทุกวันนี้

ลักษณะทางพุทธศิลป์ พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรี มีพระอุณาโลม ผลิอยู่ระหว่างพระขนง พระวรกายสมส่วน มีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบฝังด้วยแก้ว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน (ทีฆงคุลี) ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ

มีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทองประดับ เบื้องพระปฤษฎางค์ปราณีต อ่อนช้อย ช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชมีความงดงามยิ่งขึ้น ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวคือ พระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช ถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

อาวุธวิเศษ ปัญจเทพศาสตราวุธ อันมีเทวานุภาพ 5 สิ่ง ที่เชื่อกันว่า โบราณจารย์ ใช้ภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญาสร้างไว้ ณ พระวิหารพระพุทธชินราช ปัญจอาวุธวิเศษในโลก ที่สถิตรักษาพระพุทธชินราช (1) วชิราวุธ พระอินทร์ เพชรที่กลางพระอุณาโลม พระนาลาฏพระพุทธชินราช เมื่อมีเหตุจะแสดงสีเหลืองทอง (2) คธาวุธ หรือกระบอง อาวุธท้าวเวสสุวณฺโณ ยักษ์เบื้องซ้าย)

(3) ทุสสาวุธ ผ้าวิเศษ อาวุธอาฬวกยักษ์ (ยักษ์เบื้องขวา) เมื่อปล่อยผ้าออกไปจะเหมือนสายฟ้าฟาด (4) จักราวุธ อาวุธพระนารายณ์ อยู่หน้าวิหารด้านนอก (5) นัยนาวุท ของพระยม (บานประตูหูช้างไม้จำหลักภาพนูนลงรักปิดทอง รูปทวารบาลแบบจีนผสมไทย เหยียบสิงห์ เรียกว่า เสี้ยวกาง เปรียบเทียบได้กับพระยม คติไทย ถือเป็น ตาพระยม) พร้อมทั้ง มีพระอครสาวกคู่ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร บนฐานบัวแท่นปูนอยู่เบื้องหน้า

นอกจากพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว จุดเด่นของวัดคือพระปรางค์ เสมือนเป็นหลักประธานของวัด มีวิหารย์คดล้อมรอบปรางค์ทั้งสี่ทิศ และมีระเบียงคดล้อมรอบองค์ปรางค์ พระปรางค์นี้สร้างแบบสมัยอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสามชั้นย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ พระอัฏฐารส เป็นประพุทธรูปปูนปั้นปางประทับยืนยกพระหัตถ์ขวาขึ้น สูง 18 ศอก หรือ 9 เมตร บริเวณนี้คือ “วิหารพระอัฏฐารส” หรือพระวิหารเก้าห้อง พระเศียรของพระอัฏฐารสนี้ได้วิวัฒนาการมาจากประติมากรรมกลุ่มพระศรีศาสดา แต่ลักษณะทั่วไปเปรียบเทียบได้กับพระพุทธปรางประทานอภัย

พระเจ้าเข้านิพาน สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นการจำลองเหตุการณ์องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพาน มีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระศพสีทองเหลืองอร่ามตั้งอยู่บนฐานที่ลงลักษณ์ปิดทองและประดับปรตะดาลวดลายกระจกอย่างสวยงาม ซึ่งมีแห่งเดียวในโลก พระเหลือ หลังจากสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 พระองค์เป็นไปตามพระราชประสงค์แล้ว พระมหาธรรมราชา รับสั่งให้ “เอนทองเศษที่เหลือ”จากการหล่อ นำมารวมกันหล่อพระพุทธรูปปรางมารวิชัยขนาดเล็ก ขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอก หรือเรียกชื่อ “พระเหลือ” เศษทองยังเหลืออีกจึงได้หล่อพระสาวกยืนอีก 2 องค์

ส่วนอิฐที่ก่อเตานำรมรวมกันเรียกว่า “ชุกชี” ตรงบริเวณที่หล่อพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ ปลูกต้นมหาโพธ์ลงบนชุกชี 3 ต้น เรียกว่า “โพธิ์สามเส้า” เป็นการบ่งบอกถึงมหาสถานของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ และได้สร้างวิหารน้อย 1 หลัง อัญเชิญพระเหลือกับสาวกเข้าประดิษฐานในวิหารหลังนี้

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกอย่างหนึ่งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ คือ “นมอกเลา” ที่บานประตูพระวิหาร เป็นบานประตูไม้ประดับมุกงดงามมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงสร้างถวายพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ. 2299 อกเลา หมายถึง แท่งไม้ส่วนที่ทำเป็นแนวตั้งยาว เพื่อใช้เป็นตัวประกบระหว่างบานประตู ตรงกลางไม้จะมีตัวกั้น ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ป้องกันไม่ให้คนภายนอกงัดแงะไม้คานที่พาดปิดประตูด้านในได้สะดวก

ตัวกลางไม้รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดนี้เรียกว่า “นมอกเลา” คนโบราณนิยมอาราธนานำผ้าขาวบางมาวางทาบแล้วซับด้วยหมึก เพื่อนำติดตัวไปออกศึกสงคราม เชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางของขลังที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวโดยไม่ต้องเสกเป่าเพิ่มเติมแต่อย่างใด ลายนมอกเลาวิหารพระพุทธชินราช ได้รับความนิยมอัญเชิญมาประดับบนวัตถุมงคลต่างๆ เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของวัตถุมงคลที่จัดสร้างโดยวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2450 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ทรงกล่าวถึงพระพุทธชินราชว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธรูปมานักแล้ว ไม่ได้เคยรู้สึกว่า ดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย” ที่ตั้งอยู่นั้นก็เหมาะนักหนาวิหารพอเหมาะกับพระ มีที่ดูได้ถนัด องค์พระก็ตั้งต่ำพอดูได้ตลอดองค์ไม่ต้องเข้าไปดูจนจ่อเกินไป และไม่ต้องแหงนคอ ตั้งบ่าแลดู แต่พระนาสิกพระ ยิ่งพิศไปรู้สึกยินดีว่า ไม่เชิญลงมาเสียจากที่นั้น

พระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตราบใดเมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้วยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่า มีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือ หรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้”

เนื่องในโอกาสดิถีขึ้นปีใหม่ ฤกษ์งามยามดีของประชาชนชาวไทย จังหวัดพิษณุโลกขอเชิญชวนทุกท่านที่เดินทางผ่านไป-มาได้แวะเยี่ยมชมความงดงามของพระพุทธชินราช และเคารพสักการะไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์ที่ประดิษฐานภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร เพื่อเกิดความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวให้มีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน