สตูล กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ สืบสานวัฒนธรรมชาวน้ำ ผ่านงานประเพณีลอยเรือ ปราฮูปาจั๊ก หลังว่างเว้นนาน 2 ปีจากสถานการณ์โควิด

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ร่วมกันจัดงานประเพณีลอยเรือปราฮูปาจั๊ก หรือลอยบงง หลังได้ว่างเว้นจากการจัดงานนาน 2 ปี จากสถานการณ์โรคโควิดแพร่ระบาด

โดยการจัดงานลอยเรือในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของพี่น้องชาวเล เฉกเช่นทุกปี นับเป็นพิธีที่หาดูยาก และทรงคุณค่า โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสนใจเข้าร่วมชมพิธีกันคึกคัก

งานประเพณีลอยเรือจะถูกจัดขึ้น 2 ครั้ง หลังสิ้นสุดฤดูกาลท่องเที่ยว และเริ่มต้นฤดูกาลท่องเที่ยว โดยครั้งนี้จัดขึ้นก่อนเข้าฤดูกาลมรสุมสิ้นสุดการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 14 -16 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการจัดงานจะมีการทำพิธีที่ขออนุญาตการจัดจากสุสานโต๊ะฆีรี บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเกาะหลีเป๊ะ ผู้ที่ชาวเลให้ความเคารพและศรัทธาที่ทำให้พวกเขาอยู่บนผืนแผ่นดินนี้

พิธีเริ่มตั้งแต่การไหว้ดวงวิญญาณโต๊ะฆีรี ซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ ที่สุสานโต๊ะฆีรี มีการนำข้าวเหนียวเหลือง แกงไก่ ข้าวเหนียว 7 สี อาหารคาวหวาน หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้มาสักการะ ระลึกถึงโต๊ะฆีรี ท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นด้วยเสียงกลองบรรเลงเพลงและร้องรำรอบๆ ศาลโต๊ะฆีรี นับเป็นกิจกรรมแรกของงานประเพณีลอยเรือ ที่ลูกหลานไปทำงานทั่วสารทิศจะมารวมตัวกันที่นี่

รุ่งขึ้นอีกวัน ผู้ชายชาวเลจะไปตัดไม้ระกำจากเกาะอาดัง มาเหลาปอกเปลือกออก นำมาต่อเป็นเรือ หรือ ปราฮูปาจั๊ก โดยใช้ไม้ระกำทั้งลำ ลักษณะคล้ายเรือสำเภา อีกด้านหนึ่งขณะที่ผู้ใหญ่กำลังช่วยกันสร้างเรือนั้น โดยมีทายาทเด็กน้อยชาวเลมาเฝ้าดูและมีส่วนร่วมในการสืบสานและรับมรดกทางวัฒนธรรมนี้ด้วยความภาคภูมิใจ

เมื่อเรือถูกสร้างตกแต่งสมบูรณ์แล้ว โดยใช้ไม้ระกำทั้งลำ ภายในเรือถูกจัดเป็นห้องต่างๆมี ปลาอินทรีย์ เต่าทะเล รวมถึงนักประดาน้ำที่แกะสลักจากไม้ระกำตกแต่งเป็นสีสันภายในเรือ

จากนั้นชาวเล ตั้งขบวนมีการร้องรำแห่เรือไปยังริมชายหาด ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวร่วมบันทึกภาพกันอย่างตื่นตา ก่อนจะมีการทำพิธีลอยเรือกันในช่วงรุ่งเช้าโดยโต๊ะหมอ

โดยเรือถูกประดับประดาไปด้วยดอกไม้ แสงไฟสวยงาม ชาวเลและนักท่องเที่ยวต่างตัดผมตัดเล็บในใส่ในเรือ ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทิ้งสิ่งชั่วร้ายต่างๆให้ลอยไปกับทะเล ร่วมร้องรำทำเพลงและเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน

นายสินธุชัย หาญทะเล ผู้ช่วยโต๊ะหมอพิธีลอยเรือ กล่าวว่า การจัดงานประเพณีลอยเรือเกาะหลีเป๊ะนี้เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง นี่ก็ไม่ได้จัดมา 2 ปีแล้ว โดยปีนี้ทุกอย่างราบรื่นดี โต๊ะฆีรีอำนวยความสะดวก เพราะหากท่านไม่อำนวยก็จะติดขัดตั้งแต่เริ่มต้น แต่ครั้งนี้ถือว่าราบรื่นดีมาก ไม่มีอุปสรรคใดๆ จะมีสิ่งๆดีเข้ามาบนเกาะ สำหรับพิธีการลอยเรือเป็นการสะเดาะเคราะห์ ทิ้งเคราะห์ร้าย ภัยร้ายๆต่างๆลอยไปกับทะเล

ด้าน นางสาวพรไพลิน อังโชติพันธุ์ 29 ปี ทายาทโต๊ะฆีรีรุ่นที่ 4 กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการจัดงานประเพณีลอยเรือ ต้นในฐานะลูกหลานรู้สึกภาคภูมิใจ และไม่เคยลืมรากเหง้าบรรพบุรุษที่ทำให้มาอยู่บนแผ่นดินนี้ และพร้อมจะร่วมสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อ ขอพรขอขมาโต๊ะฆีรีที่สุสานแห่งนี้ เพราะท่านถือเป็นผู้บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ จนเป็นที่ทำกินเลี้ยงชีวิต

นอกจากนี้ก็ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาชมมาเยี่ยมศาลโต๊ะฆีรี นับเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินของเกาะหลีเป๊ะ หากไม่มาที่ศาลโต๊ะฆีรี เท่ากับท่านมาไม่ถึงเกาะหลีเป๊ะ

เรือปราฮูปาจั๊ก ถูกสร้างขึ้นด้วยพลังศรัทธาและความสามัคคีชาวเลอูรักลาโว้ย บนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เป็นจุดยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เชื่อว่าเรื่องราวร้ายๆที่เข้ามาในชีวิต การทำมาหากินที่ไม่ราบรื่น โรคภัยไข้เจ็บ จะถูกนำใส่เรือรอยหายไป เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ อีกทั้งเป็นการพยากรณ์ การหากินท้องทะเล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน