เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นางเลียบ ด่านต้องกระโทก อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 1 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้สืบทอดฝีมือด้านหัตถกรรมจากสามีที่เสียชีวิตไปเมื่อ 6 ปีก่อน โดยการทำซุ้มไม้ไผ่ แคร่ บันได เคาว์เตอร์ และชั้นวางของจากไม้ไผ่ ขายเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองเพราะไม่อยากเป็นภาระให้กับลูกหลาน ทั้งยังได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนายกล้า อายุ 39 ปีลูกชาย เพื่อทำเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวด้วย

ปัจจุบันป้าเลียบ และลูกชาย ช่วยกันทำซุ้มไม้ไผ่ แคร่ บันได เคาว์เตอร์ และชั้นวางของจากไผ่เลี้ยง ไผ่ตรง ที่สั่งมาจากจ.ยโสธร ตั้งขายอยู่บริเวณหน้าบ้านเช่าถนนสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย โดยขั้นตอนการทำซุ้มไม้ไผ่ เริ่มจากการวัดขนาดไม้ไผ่ แล้วนำไปตัดให้ได้ขนาด เจาะเป็นรูตามขนาด แล้วขึ้นโครง ประกอบเป็นซุ้ม เมื่อประกอบเสร็จแล้วก็จะทาแล็กเกอร์ให้เกิดความเงางามและกันมอด หากลูกค้าคนไหนอยากได้ลวดลายเพิ่มเติมก็จะใช่แก๊สพ่นลวดลายตามที่ลูกค้าสั่งโดยจะคิดราคาเพิ่มอีกตัวละ 150 บาท

ป้าเลียบ เปิดเผยว่า การทำซุ้มหรือแคร่ไม้ไผ่อาจจะดูไม่ยุ่งยาก แต่ต้องใช้แรงและความอดทน ประณีต มากพอสมควร ทำให้แต่ละวันจะทำได้เพียง 2–3 ตัวเท่านั้น โดยซุ้มไม้ไผ่ที่ทำก็จะมีราคาตั้งแต่ซุ้มละ 2,000-3,500 บาท หรือตามแต่ลูกค้าจะสั่ง ส่วนเคาว์เตอร์ตัวละ 1,500 – 2,500 บาท แคร่ตัวละ 500 -2,000 บาท บันไดเมตรละ 80 บาท ปัจจุบันมีรายได้จากการทำซุ้มไม่ไผ่ แคร่ไม้ไผ่ บันได และชั้นวางของจากไม้ไผ่เฉลี่ยเดือนละกว่า 70,000 บาท ซึ่งถือเป็นรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

“แม้ป้าจะอายุมากแล้วแต่ก็ยังมีแรงพอทำงานได้และไม่อยากเป็นภาระให้กับลูก จึงได้นำความรู้ประสบการณ์ที่เคยทำกับสามีตอนยังมีชีวิต หันมาทำเป็นอาชีพจนเกิดความชำนาญ แล้วถ่ายทอดให้กับลูกชาย และช่วยกันทำขายซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ทั้งร้านอาหารที่ต้องการนำไปเป็นซุ้มให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหาร พ่อค้าแม่ค้าที่นำไปวางขายของ หรือนำไปใช้ประโยชน์ตามบ้าน สำนักงาน บางคนก็มารับซื้อถึงที่ บางคนก็สั่งทำครั้งละ 20-30 หลังจนทำแทบไม่ทัน ซึ่งป้าจะทำจนกว่าจะหมดแรงทำไม่ไหวนั่นแหละ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน