จากกรณีที่มีการแจ้งความกับร.ต.อ.สุมิตร บุญยะนิจ พนง.สอบสวน สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อดำเนินคดีนายเปรมชัย กรรณสูต ในข้อหาทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีการถอนแจ้งความในวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจากได้ตรวจสอบคำนิยามของคำว่าสัตว์ ตามมาตรา 3 ให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยในธรรมชาติตามที่รมต.กำหนด และได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ารมต.ยังไม่ได้ประกาศกำหนดสัตว์ตามธรรมชาติว่าเป็นสัตว์ชนิดใด จึงต้องถอนคำร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อมาพ.ต.อ.วุฒิพงษ์ เย็นจิตต์ ผกก.ทองผาภูมิได้สั่งภาคทัณฑ์ร.ต.อ.สุมิตร บุญยะนิจ เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ตรวจสอบข้อกฏหมายให้แน่ชัด ต่อมาเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลว่าตำรวจที่แจ้งข้อกล่าวนายเปรมชัยกฃลับโดนลงโทษภาคทัณฑ์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ ได้โพสต์เฟซบุ๊คถึงกรณีดังกล่าวว่า #ทีแรกเฝ้ามองตามกระแส [1] คำสั่งนี้ ผู้บังคับบัญชามีการตั้งกรรมการสอบสวนความผิดที่ถูกกล่าวหาผิดวินัยหรือไม่ ผลการสอบทางวินัยฟังได้เป็นที่ยุติว่าอย่างไร ขอตั้งข้อสังเกตไว้ แต่อาจพิจารณาได้ว่า คำสั่งสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ ไม่ระบุพฤติการณ์หรือการกระทำที่ถือว่าผิดวินัยไม่ร้ายแรง ตาม พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (1)-(18) ไว้

คำสั่งนี้ระบุเหตุผลที่อ้างว่า “บกพร่องต่อหน้าที่ไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัด” ไม่น่าจะใช่เหตุที่เป็นการกระทำผิดวินัย เพราะในคำสั่งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกลงโทษไม่อาจทราบข้อเท็จจริง ข้อกล่าวหา เพื่อให้มีโอกาสโต้แย้งชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือใช้สิทธิอุทธรณ์ได้อย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้การร้องทุกข์ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่นำมากล่าวหาจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือจะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด ก็หาได้เป็นผลจากการรับคำร้องทุกข์ไว้โดยตรงไม่ เพราะการร้องทุกข์กล่าวโทษย่อมมาจากพฤติการณ์ของการกระทำที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องปรับข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายเป็นกรณีๆ กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนยังต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และตรวจสอบข้อกฎหมายต่อไปจึงจะสามารถทำความเห็นตามรูปคดีต่อไป

เมื่อกรณีนี้ผู้ร้องทุกข์มาถอนคำร้องทุกข์ข้อหาใดที่เห็นว่าไม่เข้าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ก็เป็นเรื่องที่ชอบจะทำได้อันถือว่าเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ไปในตัว การที่พนักงานสอบสวนให้ถอนคำร้องทุกข์ไปด้วยเหตุผลทางกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายและตามระเบียบของการดำเนินคดีอาญา

ดังนั้น คำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์แม้จะเป็นสถานเบาที่สุดก็ตาม แต่อาจส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาต้องคำนึงถึงการใช้อำนาจที่จะไม่กระทำการอันเป็นเหตุให้แตกความสามัคคีระหว่างข้าราชการตำรวจด้วย

[2] ประการต่อมา เรื่องนี้ไม่ควรนำกระแสสังคมมาตัดสินหรือชี้หน้าใคร แม้สถานะของผู้ต้องหาและความอ่อนไหวทางสังคมต่อสัตว์สงวนจะเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจอย่างกว้างขวาง

รูปคดีนี้ปรากฏว่ามีผู้เข้าไปในเขตคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มีอาวุธปืนร้ายแรง จะฆ่าเสือดำ สัตว์คุ้มครองชนิดใดหรือไม่ ย่อมจะต้องพิสูจน์ในทางคดี

แต่หากดูมาตรฐานที่นำมาอ้างการโต้แย้งตัดข้อหาทารุณกรรมสัตว์ออก กระทั่งนำไปสู่การลงโทษทางวินัยพนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ การจะบอกว่าที่สั่งการและลงโทษตำรวจเป็นการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อให้การนำคดีไปสู่ศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาลพระภูมิก็แล้วแต่จะเล่นคำ

แต่จุดที่น่าสนใจ คือ ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ของ สตช.ที่กำกับดูแลคดีนี้ มีเจตนาใดในทางคดีหรือไม่ เพราะท่าทีต่อการแสดงทัศนะต่อสังคม การลงโทษทางวินัยตำรวจผู้น้อย การสั่งสอบเจตนาเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรก็ดี หากจะดูมาตรฐานที่ผ่านมาหลายคดีอาญา ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการตรวจสอบข้อกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ มีเพียงตั้งข้อหาร้ายแรงแก่ประชาชน ผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ผู้ต้องหาไปสู้คดีในศาล หรือถ้ามีมาตรฐานเดียวกันก็ชี้แจงได้

กระบวนยุติธรรมทางอาญาโดยเฉพาะชั้นสอบสวนที่ตำรวจระดับสูงมาดูคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีใด ก็ควรที่จะทำให้ถูกต้อง เที่ยงธรรม ตรวจสอบข้อหาและเจตนาของผู้มากล่าวโทษด้วยเช่นกัน #ต้องไม่เลือกปฏิบัติจริงๆ เพราะมิฉะนั้นก็ไม่อาจหลุดพ้นข้อครหาหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่อาจมองว่า มีความพยายามเป่าคดีหรือช่วยเหลือใครอยู่หรือไม่..นั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน