จากกรณีกลุ่มตรวจสอบภายในของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ตรวจสอบบัญชีงบประมาณ ประจำปี 2560 ของ สป.ศธ.ก่อนพบมีการโอนเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งเป็นเงินจัดสรรเพื่อช่วยเหลือผู้ยากจนที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเป็นทุนสำหรับเด็กหญิงที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก หรือเด็กตกเขียว ไปเข้าบัญชีของบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต่ปี 2551-2561 เป็นเงินประมาณ 88 ล้านบาท ซึ่งหลังจากตรวจพบ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปรายงานต่อ รมว.ศธ.ทันที โดย รมว.ศธ.ได้สั่งให้ปลัด ศธ.แจ้งความดำเนินคดี และส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ พร้อมทั้งดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทันที ซึ่งเบื้องต้นมีข้าราชการฝ่ายปฏิบัติ 5 ราย รวมทั้งหามาตรการเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับทุน

สำหรับเงินที่ถูกยักยอกโอนเข้าบัญชีบุคคลตลอดระยะเวลา 10 ปี ประมาณ 88 ล้านบาทนั้น เมื่อจำแนกเป็นปีพบว่า ปี 2551 และปี 2553 ยังอยู่ในระหว่างตรวจสอบ ส่วนปี 2552 อนุมัติ 10,892,422 บาท ยักยอก 2,320,968 บาท ปี 2554 อนุมัติ 11,409,860 บาท ยักยอก 4,032,400 บาท ปี 2555 อนุมัติ 25,407,608 บาท ยักยอก 16,332,272 บาท ปี 2556 อนุมัติ 37,047,000 บาท ยักยอก 25,241,000 บาท ปี 2557 อนุมัติ 10,997,000 บาท ยักยอก 2,243,000 บาท ปี 2558 อนุมัติ 35,227,000 บาท ยักยอก 18,273,000 บาท ปี 2559 อนุมัติ 18,717,000 บาท ยักยอก 4,548,000 บาท ปี 2560 อนุมัติ 13,625,000บาท ยักยอก 12,800,000 บาท และ ปี 2561 แตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. อนุมัติ 3,025,000 บาท ยักยอกเข้าบัญชีบุคคลทั้งหมด ตามที่ “ข่าวสด” นำเสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 12 มี.ค. ที่ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าตั้งแต่ปี 2551-2561 มีการโอนเงินไปตามบัญชีที่เป็นชื่อบัญชีบุคคลไม่ใช่บัญชีของสถานศึกษาล่าสุดเพิ่มเป็น 22 บัญชีที่เข้าข่ายไม่ชอบมาพากล จึงสั่งการให้โรงเรียนแจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ พร้อมทั้งให้ขยายผลการตรวจสอบไปยังกองทุนอื่นๆ อาทิ กองทุนส่งเสริมการศึกษาสำหรับผู้พิการ กองทุนเทคโนโลยีทางการศึกษา กองทุนหมุนเวียน รวมทั้งเงินรายหัวทั้งหมดที่โอนเงินจากส่วนกลางไปยังสถานศึกษา ซึ่งต้องระดมคนตรวจสอบหรือไม่ก็สุ่มสอบ โดยในการประชุมองค์กรหลักในวันที่ 13 มี.ค.นี้ ตนจะกำชับเรื่องนี้อีกครั้ง

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ได้กำชับปลัด ศธ.เร่งหามาตรการเยียวยาและเรียกร้องความผิดทางละเมิด รวมทั้งอายัดทรัพย์ผู้ที่ยักยอกทรัพย์ โดยให้ประสานไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นการด่วนแล้ว รวมทั้งเร่งรัดสืบหาข้อเท็จจริง ซึ่งตนคิดว่าเรื่องนี้น่าจะจบได้ภายใน 1-2 เดือน เพราะไม่ใช่เรื่องที่ยาก ต่อจากนี้ปัญหาที่หมักหมมจะถูกปรับปรุงระบบเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถ้าพบคนมีปัญหาก็ต้องดำเนินการโดยเร็ว จากการตรวจสอบพบว่าคณะกรรมการกองทุนฯ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ คือใช้บัญชีของญาติมาหลอกโอนเงิน ซึ่งขณะนี้ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวก็ไม่มาทำงาน จึงขอให้เร่งดำเนินการเพราะต้องคิดถึงเด็กที่ควรจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวด้วย

เมื่อถามว่า เรื่องนี้มีผู้บริหารเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะงบฯ ที่โอนแต่ละปีสูงเป็นหลักสิบล้านบาท ทำไมจึงดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่เท่านั้น นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องตรวจสอบว่าใครมีอำนาจ ดำเนินการตามระเบียบหรือไม่ เหตุใดจึงปล่อยให้เจ้าหน้าที่สามารถมีอำนาจในการโอนเงินมากขนาดนี้ โดยที่ไม่มีระบบการตรวจสอบ เชื่อว่าเรื่องนี้มำเป็นขบวนการอย่างแน่นอน เท่าที่ทราบเรื่องนี้มีหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดยหัวหน้าเป็นผู้นำบัญชีมาเสนอเข้าบอร์ด แต่คงต้องตรวจสอบว่าหัวหน้ารับรู้ด้วยหรือว่าถูกหลอกเช่นกัน ขอเวลาตรวจสอบแกะรอบ ยืนยันว่าไม่มีมวยล้มแน่นอนแต่บางเรื่องต้องใช้เวลาแกะรอย ทั้งนี้ยังไม่ได้จะยกเลิกกองทุนฯ แต่ขอดูวัตถุประสงค์กองทุนฯ ก่อน หากเป็นเรื่องของการช่วยเหลือเด็กยากไร้ ลดความเหลื่อมล้ำก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯกำลังอยู่ในสภานิติบัญญัติ ตนยินดีจะยกภารกิจนี้ให้กองทุนฯเพราะเชื่อว่าโปร่งใสกว่า

ส่วนกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบพบ ผอ.โรงเรียนมีเอี่ยวโกงเงินคนจน รมว.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคนยากจน จะต้องลงโทษตามกระบวนการของกฎหมาย ถ้าทาง ป.ป.ท.สอบสวนมาแล้วว่ามีความผิดก็ดูว่าผลสอบเป็นอย่างไร หากมีความผิด ก็ลงโทษทางวินัยและถอนถอดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในกรณีที่ทำผิดวินัยร้ายแรงด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน