ดีเอสไอ บุกตรวจบริษัท ต้นตอนำเข้าหมูเถื่อน ส่งขายทั่วประเทศ เงินสะพัด 2 หมื่นล้าน อึ้งลอบนำเข้าจากต่างประเทศสำแดงเท็จเป็นปลา
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ก.พ. 2568 พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 126/2566 นำหมายศาล จ.สระบุรี เข้าตรวจค้นเป้าหมายบริษัทผู้นำเข้าหมูเถื่อนรายใหญ่ “บริษัท เทียนขำ แดรี่ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด” ตั้งอยู่เลขที่ 136 ม.13 ริมถนนสายลำพญากลาง-ปากช่อง ต.ลำพญากลาง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรีภายในเป็นศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ที.เค. (ลำพญากลาง)
เจ้าหน้าที่ได้นำหมายศาลแสดง แต่ไม่พบตัวนายทรงพล เทียนขำ เจ้าของบริษัท มีเพียง น.ส.สุภาวดี ฉะกระโทก ผู้จัดการ ออกมาต้อนรับ เจ้าหน้าที่จึงอ่านหมายศาล และวัตถุประสงค์การเข้าตรวจสอบให้ น.ส.สุภาวดี ก่อนเซ็นรับทราบ และนำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นในพื้นที่บริเวณดังกล่าว
โดยมีพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนแล้วว่า เป็นต้นทางซึ่งใช้เป็นสถานที่ใช้ในการจัดทำเอกสารการซื้อ นำเข้าซากสุกรนำเข้ามาจากต่างประเทศ การชำระสินค้า การจำหน่ายซากสุกร (หมูเถื่อน) ที่ซื้อมาจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้ชำระภาษีอากรให้กับประเทศไทยในกรณีการสำแดงสินค้าเป็นปลา และชำระภาษีอากรน้อยกว่าความเป็นจริงกรณีสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ประกอบกับรายดังกล่าว เป็นกลุ่มที่นำเข้าที่เป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้น เอกสาร หลักฐานต่างๆ (ตู้เอกสาร) รวม 3 จุดคือ ที่ห้องประชุมของบริษัทฯ /ภายในออฟฟิศร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด และจุดสุดท้ายในบ้านพักหลังใหญ่ที่อยู่ในรั้วเดียวกัน โดยใช้เวลาในการตรวจค้นราว 1 ชั่วโมงเศษ ไม่พบเอกสารหรือสิ่งผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ก่อนเข้าตรวจค้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คดีพิเศษที่ 126/2566 ได้ทำการสอบสวนแล้วพบว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2563 – 13 มิ.ย.2566 กลุ่มของนายทรงพล เทียนขำ และนายบริบูรณ์ ลออปักษิณ แท้จริงเป็นกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองเดียวกัน ซึ่งได้ร่วมกันในการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์สุกรเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยสำแดงเท็จเป็นปลา (สัตว์น้ำ) ซึ่งไม่ต้องชำระภาษีอากร เนื่องจากพิกัดอัตราภาษีศุลกากรปลาเป็น 0 เปอร์เซ็นต์
เมื่อนำสินค้าออกไปจากท่าเรือแหลมฉบัง มีการไปจำหน่ายในท้องตลาดในประเทศไทย โดยมีตัวการที่สำคัญและเป็นรายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยส่งสินค้าซากสุกรเหล่านี้ให้กับห้างค้าปลีกทั่วประเทศ
สำหรับนายทรงพล เทียนขำ เป็นเจ้าของตัวจริงของบริษัทนำเข้าซากสัตว์สุกร มีบริษัทลูกที่จำแนกออกไป 4 บริษัทคือ 1 บริษัท เดอะวินเนอร์ เทรดดิ้ง จำกัด 2 บริษัท ยูเจ อินเตอร์ฟูด จำกัด 3 บริษัท ไจแอ๊นด์ เทรดดิ้งจำกัด และ 4 บริษัท แกรนด์ฟู๊ด จำกัด
พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน คดีพิเศษ ที่126/2566 เผยว่า เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับเจ้าหน้าที่พื้นที่ได้เข้าตรวจค้นที่บริษัทดังกล่าว เนื่องจากเคยจดทะเบียนไว้ที่นี่ แต่ในปัจจุบันได้เลิกบริษัทไปแล้ว และไม่มีที่ตั้งอยู่ที่นี่
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า บริษัทดังกล่าวมีการโอนเงินกับบริษัทที่ถูกจับกุมไปแล้ว 2 บริษัท พบการโอนเงินกันเกือบ 500 ครั้ง และยังมีการโอนเงินไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทที่ส่งชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งเข้ามาในประเทศไทย ที่ส่งเข้ากับ 10 บริษัทที่ถูกจับกุมไปแล้ว จึงเป็นเหตุที่ต้องมาตรวจค้นที่นี่ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีเงินหมุนเวียนเกือบจำนวน 2 หมื่นล้านบาท
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า ในจำนวนที่ตรวจสอบพบเป็นการส่งสินค้าเข้าไปบริษัท โมเดิลเทรด ขนาดใหญ่ และบริษัทเล็กๆ อีกจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดในประเทศไทยในปี 2564, 2565 ต่อเนื่องปี 2566 มีเงินหมุนเวียนมากผิดปกติ ซึ่งเป็นเหตุสงสัย จึงทำให้ต้องเข้ามาตรวจค้นภายในบริษัทแห่งนี้
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การส่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทยเป็นสินค้าเกี่ยวกับห้องเย็นทั้งหมด กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศไปกับอีกหลายประเทศ เช่น อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก บราซิล เนื่องจากกลุ่มบริษัทดังกล่าวมีการสั่งสินค้าเข้ามาจากประเทศดังกล่าว ซึ่งคณะสอบสวนจะเริ่มเดินทางในปลายเดือนนี้เพื่อเข้าไปตรวจสอบใบบีแอล ใบอินวอยซ์ ว่าสินค้าที่ส่งเข้ามานั้นเป็นอะไร
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายังมีอีกหลายบริษัทที่มีการสำแดงเท็จ ส่งสินค้ามาเป็นชิ้นส่วนสุกร แต่แสดงเอกสารเป็นแผ่นโพลิเมอร์บ้าง หรือเป็นสัตว์น้ำบ้าง ซึ่งได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วว่ามีการสำแดงเท็จจากชิ้นส่วนสุกรเป็นปลา ในส่วนของบริษัทดังกล่าวมีการสั่งสินค้าเข้ามาอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า วันนี้มาตรวจสอบตรวจค้นเพื่อหาสิ่งของที่เกี่ยวข้องในคดี พบว่าบริษัทดังกล่าวเคยใช้ที่อยู่ที่นี่เป็นที่ตั้งบริษัท แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่นี่พบว่า ไม่มีการตั้งทำกิจการบริษัทนี้แต่อย่างไร เพียงใช้ชื่อและที่อยู่ของสถานที่นี้เป็นที่ดำเนินการรับเอกสาร ส่งเอกสาร จากการตรวจสอบบริเวณทั้งหมด ไม่พบสิ่งของที่เกี่ยวข้องของบริษัทที่ตรวจสอบแต่อย่างไร
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 บริษัทที่เชื่อมโยงกับบริษัทดังกล่าว ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำสินค้าคือตู้เย็นที่มีชิ้นส่วนสุการแช่แข็ง และสัตว์น้ำอื่นๆ เข้ามาในประเทศไทย โดยผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง และส่งกระจายสินค้าไปยังที่ต่างๆ จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบว่าบริษัทปลายทางแจ้งว่าได้ซื้อสินค้ามาจากบริษัทดังกล่าวนี้ แต่เมื่อมาตรวจกลับไม่พบว่ามีการตั้งบริษัทแต่อย่างไร มีเพียงใช้ชื่อสถานที่ตั้งเท่านั้น
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการเนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีสินค้าสุกรแช่แข็ง หรือสินค้าอื่นอีกประมาณ 6,000 ตู้ นำเข้ามาจากประเทศดังกล่าว โดยจะมีการตรวจอินวอยซ์ว่าสินค้าที่สั่งเข้ามานั้นเป็นอะไรกันแน่ เพราะปลายทางคือชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งทั้งหมด แต่เมื่อดูแล้วพบว่ามีการแจ้งเท็จว่าเป็นปลา เป็นโพลิมอร์ ซึ่งสินค้าในแต่ละตู้จะมีกำไรประมาณ 2 ล้านบาทเศษ คำนวณจาก 6,000 ตู้ จะเป็นจำนวนเงินหมื่นล้านกว่าบาท
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า เมื่อดูเงินหมุนเวียนกับบริษัทแล้วก็จะสอดคล้องกับตู้ที่เข้ามาในประเทศไทยคือมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากการมาตรวจค้นบริษัทดังกล่าว ไม่พบผู้บริหารของบริษัท จะต้องออกหนังสือเชิญเข้ามาให้ข้อเท็จจริงว่า เหตุใดจึงใช้พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งบริษัท และไม่พบว่าเป็นที่ทำการบริษัทแต่อย่างใด แต่พบว่ามีเงินหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก และเป็นข้อสงสัยของพนักงานสอบสวนที่จะต้องเชิญตัวเจ้าของบริษัทมาให้ข้อเท็จจริงกับพนักงานสอบสวนต่อไป