นครราชสีมา เริ่มนับหนึ่งก้าวแรก เปลี่ยนกองบิน 1 เป็น สนามบินพาณิชย์ ใช้เวลา 6 ปี งบฯ 1.6 พันล้าน ลุ้นการบินพลเรือนศึกษาตรวจสอบ ผ่านหรือไม่ เติมหวังชาวโคราชเดินทางสายการบิน

21 มี.ค. 68 – ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนการเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์ในจังหวัดนครราชสีมา ตามคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ 1641/2568

โดยมี นาวาอากาศเอกพิชญาณ อะสีติรัตน์ ผู้บังคับการกองบิน 1 นครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา นายไพจิตร มานะศิลป์ ประธานหอการค้านครราชสีมา ผู้แทนกองทัพภาคที่ 2 สำนักการบินพลเรือน ท่าอากาศยานนครราชสีมา ศูนย์ควบคุมการบินนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมนครราชสีมา

ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและขออนุญาตจัดตั้งสนามบิน การจัดตั้งให้มีเขตปลอดภัยการเดินอากาศ การขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะและการจัดให้มีผู้จัดการสนามบินสาธารณะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมทั้งประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งต้องรายงานความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะให้ทราบต่อเนื่อง

นอ.พิชญาณ ชี้แจงภารกิจดูแลความมั่นคงทางอากาศตลอดแนวชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีฝูงเครื่องบินขับไล่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยต้องพร้อมขึ้นบินตลอด 24 ชั่วโมง ได้ภายใน 5 นาที

นอ.สมภูมิ สุนทรา รองผู้อำนวยการกองมาตรฐานสนามบิน และการบริการการเดินอากาศ กล่าวว่า สนามบินมิใช่ถนนจะเอารถมาวิ่งได้ทันที ต้องผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องการเปิดสนามบินให้บริการแก่สาธารณะไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) การเดินอากาศ พ.ศ 2497 (ฉบับที่แก้ไขเป็นปัจจุบัน) มาตรา 60/1 ภายใต้มาตราบังคับ 60/34 สนามบินอนุญาตที่ขึ้นลงชั่วคราว จะเปิดให้บริการแก่สาธารณะได้ ต่อเมื่อได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากผู้อำนวยการเท่านั้น

สถานภาพของสนามบินโคราช พบประเด็นไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลได้แก่ ระบบไฟฟ้าสนามบิน , Grid Maps , คราบยางสะสมบนทางวิ่ง, ป่าไม้กีดขวางแนวร่อนทางวิ่ง 06 , จำนวนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย , รถ Command Post , ตำแหน่งติดตั้งตู้ RSU , ตำแหน่งติดตั้งสถานี Glide Path ,Runway Strip 140 m North , Distance Remaining Signs (Frangibility) , Markings ,

ความลาดชันตามยาวของทางวิ่ง , ยางหยอดรอยต่อลานจอด , ป้ายบังคับ ป้ายข้อมูล , ระบบไฟฟ้ากำลังไม่มีเสถียรภาพที่ดี,ระบบ Access Control เขตการบิน , คู่มือดำเนินงานสนามบิน , ชุดป้องกันสารไฮดราซีน ,จนท.ควบคุมสิ่งกีดขวางสนามบิน , จนท.หอบังคับการบินไม่มีใบอนุญาต , อาคารผู้โดยสาร ระบบ X-Ray , การจัดเก็บ , ค่าบริการสนามบิน , การจัดเก็บค่าบริการ ATC

สรุปข้อจำกัดของสนามบินโคราช ในเบื้องต้น 1. ในห้วงระยะเวลาการฝึกร่วม ฝึกผสม มีปริมาณการจราจรทางอากาศหนาแน่น เฉลี่ย 1 ปี ฝึก 7 เดือน 2. ในห้วงระยะเวลาการฝึกร่วม ฝึกผสม มีความต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สูงมาก

3. การติดตั้งอุปกรณ์ตาข่ายรองรับ และสายหน่วงความเร็วอากาศยานทั้งแบบ Gear Arrestors และ Net Barriers ปลายทางทั้ง 2 ด้าน ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้ทางวิ่งของเครื่องบินพาณิชย์ 4. พื้นที่คลังกระสุนและวัตถุระเบิด 5. มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เคร่งครัด ส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณสูง

ทั้งนี้ ได้ยกตัวแบบแผนปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ครม. มีมติมอบให้ให้ กองทัพเรือ เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนา และปรับปรุงจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก ใช้เวลา 6 ปี 4 เดือน งบลงทุนกว่า 1,624 ล้านบาท ซึ่งกองบิน 1 ต้องดำเนินการตามโมเดลนี้ คาดใช้เงินลงทุนน้อยกว่า แต่เวลาดำเนินงานอาจมากกว่า

ด้าน นายไพจิตร ประธานหอการค้านครราชสีมา เปิดเผยว่า ขอบคุณกองทัพอากาศที่ไม่ขัดข้องและยินดีสนับสนุน รวมทั้งให้ข้อมูลครอบคลุมที่เป็นขั้นตอนกระบวนการต่างๆ เมื่อทราบความชัดเจน หลังเดินผิดทางร่วม 10 ปี ทุกภาคส่วนได้ผลักดันให้ใช้กองบิน 1 เป็นสนามบินพาณิชย์แทนสนามบินหนองเต็ง อ.เฉลิมพระเกียรติ

“วันนี้ถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยน สนามบินทหาร เป็น สนามบินพาณิชย์ ใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี ต้องผ่านการตรวจสอบ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ผลการศึกษาความเป็นไปได้ใหม่ (Feasibility Study) เพื่อให้แน่ใจ สนามบินสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันปัญหา เปิดบริการแล้วต้องปิดตัวลง เพื่อเป็นความหวังชาวโคราช จะได้เดินทางด้วยสายการบินพาณิชย์จากบ้านเกิดอีกครั้ง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน