อินไซด์ต่างประเทศ

วิจักขณ์ ชิตรัตน์

บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ถือเป็นบริษัทผลิตอาวุธที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และในโลกนี้ โดยในปี 2017 นี้ ยอดกำไรของบริษัทพุ่งขึ้นอย่างมาก จากยอดสั่งซื้อ เครื่องบินรบรุ่น เอฟ-35 ที่บริษัทได้รับสิทธิการผลิตจากรัฐบาลสหรัฐ เฉือนบริษัทโบอิ้ง คู่แข่งชาติเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า เอฟ-35 ไม่ใช่สุดยอดเครื่องบินรบ แต่รบได้ดีแน่ และมีเทคโนโลยีการพรางตัว (หลบเรดาร์) สูงมาก แต่ทำไมยอดสั่งจองจึงสูง

เทคนิคด้านการตลาดพื้นๆ คือ ให้ผู้ที่จะเป็นลูกค้ามีส่วนร่วมในการผลิตด้วย! แต่ก็ไม่ใช่ลูกค้าทุกประเทศจะได้สิทธิหมด บริษัท (และรัฐบาลสหรัฐ) วางหมากไว้ว่า เอฟ-35 จะเป็นเครื่องบินที่ใช้รบในยุโรปเป็นหลัก แต่ยุโรปนั้นมีประเทศขนาดเล็กจำนวนมาก และชาติเหล่านี้มักมองเห็นภัยร่วมกัน ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ยุโรปแต่ละประเทศต้องพึ่งพากัน และซ้อมรบร่วมกัน

เอฟ-35 จึงเป็นเครื่องบินรบที่ 8 ชาติร่วมกันสร้าง (ยุคหนึ่งยุโรปใช้แนวคิดนี้กับเครื่องบินรบ “ยูโรไฟเตอร์”) นั่นคือ สหรัฐ อังกฤษ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ อิสราเอล และตุรกี โดย 7 ชาติที่ว่ามานี้ก็คือคนกำลังเป็นลูกค้าสำคัญของบริษัทนั่นเอง ส่วนคนอื่นที่จะสั่งซื้อเครื่องรุ่นนี้บ้าง ไม่สามารถขอเข้าร่วม โครงการ “ผู้สร้างร่วม” ได้แล้ว เรียกว่าเป็นโครงการอภิสิทธิ์สำหรับบางประเทศเท่านั้น ที่น่าสนใจ ในเรื่องนี้คือ ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นนั้นเริ่มได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการบินจากสหรัฐ เมื่อราว 7 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว โดยเริ่มผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ เพื่อการซ่อมบำรุงเท่านั้น แต่ในยุคนี้ ญี่ปุ่นต้องพึ่งตนเองมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะ เมื่อสถานการณ์ใกล้ตัวเริ่มระอุขึ้นเรื่อยๆ บวกกับฝูงบินของญี่ปุ่นต้องเริ่มปลดระวางตั้งแต่ปี 2020 ทำให้ญี่ปุ่นต้องสั่งซื้อเครื่องบินรบรุ่นใหม่ คือ เอฟ-35 รวม 42 ลำ โดยแรกเริ่มญี่ปุ่นขอเข้าโครงการ “อภิสิทธิ์” ข้างต้น คือขอมีส่วนร่วมผลิตแต่ถูกปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังได้รับความ “เมตตา” จากสหรัฐอยู่บ้าง คือยอมให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ “ประกอบ” เครื่องเอฟ-35 (ที่สั่งซื้อ) ได้เอง 4 ลำเท่านั้น ส่วนที่เหลือ ต้องนำเข้าเพียงอย่างเดียว ห้ามทั้ง “ผลิต” และ “ประกอบ” ทั้งที่แรกเริ่มนั้น ญี่ปุ่นขอเป็น “ผู้ผลิต” ลำตัวเครื่องบิน แต่ถูกปฏิเสธเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เห็นชัดว่าสหรัฐวางใจมิตรในยุโรปมากกว่ามิตรในเอเชีย

จริงๆ ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมการบินมากทีเดียว เช่น เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 787 นั้น ร้อยละ 35 ของเครื่องรุ่นนี้สร้างโดยญี่ปุ่น (รวมทั้งปีกด้วย) และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทมิตซูบิชิได้ผลิตเครื่องบินโดยสารขนาด 70-90 ที่นั่งด้วยฝีมือตนเองทั้งหมดแล้ว และส่งไปทดสอบที่สหรัฐอยู่ 4 ลำและคาดว่าจะนำเข้าสู่ตลาด ในปี 2020 นัยว่าตลาดเครื่องบินจะขยายตัวในอนาคต

วิสัยพ่อค้า – ยิ่งสินค้าจำเป็นกับคุณมากเท่าใด คุณยิ่งต้องเป็นผู้ซื้อเท่านั้น ห้ามผลิต ผมเชื่อว่า ไม่นานนัก ญี่ปุ่นคงจะผลิต เครื่องบินด้วยตนเองได้ แต่จะดีพอหรือไม่ต้องรอดู

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน