เมื่อ 13 ก.ย. เอพีรายงานจากสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ว่า นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวถึงวิกฤตผู้อพยพโรฮิงยา ว่าเสี่ยงกับความหายนะ หลังจากจำนวนผู้อพยพจากรัฐยะไข่ข้ามแดนไปยังบังกลาเทศแล้ว 380,000 คน พร้อมเรียกร้องให้พม่ายุติความเคลื่อนไหวทางทหารและความรุนแรง ยึดหลักนิติธรรม

ในการแถลงข่าว นายกูแตร์เรสกล่าวถึงรายงานที่กองกำลังความมั่นคงทำร้ายพลเรือน ว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง เมื่อนักข่าวถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประชากรโรฮิงยาถูกกวาดล้างทางชาติพันธุ์ เลขาธิการยูเอ็นตอบว่า “เมื่อหนึ่งในสามของประชากรโรฮิงยาต้องทะลักออกนอกประเทศ คุณหาคำอธิบายอื่นที่ดีกว่านี้ได้ไหม”

นายกูแตร์เรส เลขายูเอ็น (AP Photo/Efrem Lukatsky, File)

ด้านรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลสวีเดนยื่นข้อเสนอถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ออกมติเพื่อยุติความรุนแรงในรัฐยะไข่ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มสูงอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจีนจะคัดค้านการออกมติที่มีผลต่อรัฐบาลพม่า เนื่องจากจีนเห็นด้วยกับการที่พม่าปราบปรามกองกำลังติดอาวุธโรฮิงยา แม้ว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ

นายจอ ฮเทย์ โฆษกรัฐบาลพม่า (AP Photo)

ก่อนหน้านี้ นายจอ ฮเทย์ โฆษกรัฐบาลพม่าเพิ่งแถลงว่า จากการสำรวจพื้นที่ชุมชนของชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ (โฆษกรัฐบาลพม่าใช้คำเรียกว่าชาวเบงกาลี) พบว่าขณะนี้มีหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่าแล้ว หลังจากชาวโรฮิงยาอพยพหนีออกไป 176 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 471 หมู่บ้านใน 3 เมือง และทั้งนี้ทั้งนั้น พม่าจะไม่รับคืนผู้ที่อพยพทั้งหมดที่ออกไปแล้ว จะรับได้ต่อเมื่อพิสูจน์ว่าเคยอยู่ในชุมชนจริง

ภาพที่อ้างว่าเป็นมุสลิมโรฮิงยาเผาบ้านตัวเอง

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพีรายงานเผยถึงความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าในการให้ข่าวว่า ชาวโรฮิงยาเป็นฝ่ายเผาบ้านเรือนของตนเอง โดยเตรียมภาพและชาวบ้านไว้ให้นักข่าวต่างชาติสัมภาษณ์ รวมถึงพระสงฆ์ด้วย แต่ปรากฏว่า ภาพที่ชาวบ้านนับถือพุทธใช้แฉว่าชาวโรฮิงยาเผาบ้านตนเองนั้น คนในภาพกลับปรากฏตัวให้นักข่าวเห็น ว่าที่แท้เป็นชาวเชื้อสายอินเดียที่นับถือฮินดู

หญิงที่ถูกอ้างเป็นมุสลิมโรฮิงยา ที่แท้เป็นชนอินเดียนับถือฮินดู (AP Photo)

กรณีนี้จึงเข้าข่ายเป็นข่าวปลอมอย่างชัดเจนและทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลพม่าลดลงไปด้วย หลังจากนางออง ซาน ซู จี เพิ่งจะโพสต์ข้อความตำหนิว่ามีข่าวปลอมที่บิดเบือนเหตุการณ์ในครั้งนี้

ชายคนนี้ถูกอ้างเป็นมุสลิมโรฮิงยาเช่นกัน แต่ไปๆ มาๆ ก็เป็นฮินดูอีกคน Myanmar. (AP Photo)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน