เมื่อวันที่ 19 ก.ย. เอเอฟพีและบีบีซีรายงานการแถลงข่าวระดับชาติครั้งแรกของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพม่า ถึงวิกฤตชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ที่เกิดเหตุการณ์อพยพหลั่งไหลข้ามประเทศจากพม่าไปบังกลาเทศมากกว่า 4 แสนคนจนเป็นประเด็นกวาดล้างชาติพันธุ์ที่อื้ออึงไปทั่วโลก ว่ารัฐบาลของตนไม่ได้กลัวการตรวจสอบจากนานาประเทศ และยืนยันว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้อพยพออกจากพม่า ขณะที่ความรุนแรงจากการสู้รบยุติลงไปแล้ว

การแถลงข่าวนี้ใช้เวลา 30 นาที นางซู จีเน้นกล่าวเรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยเหลือในวิกฤตผู้อพยพ แต่ไม่เอ่ยถึงกรณีที่ถูกวิจารณ์ว่านิ่งเงียบ ไม่ใช้ความพยายามที่จะระงับการใช้กำลังทหารในพื้นที่

Myanmar’s State Counsellor Aung San Suu Kyi (C) arrives to deliver a national address in Naypyidaw on September 19, 2017.

“ความเกลียดและความกลัวคือปัจจัยหลักที่สร้างความหายนะให้กับโลก เราไม่ต้องการให้พม่าเป็นประเทศที่แบ่งแยกความเชื่อทางศาสนา หรือชาติพันธุ์ เรามีสิทธิที่จะมีตัวตนที่หลากหลาย” นางซู จี กล่าว

ผู้นำหญิงของพม่าแสดงความเสียใจกับคนทุกกลุ่มที่ต้องอพยพย้ายถิ่นหนีความรุนแรง และพม่ายินดีที่จะรับผู้อพยพที่ได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการกลับประเทศทุกเวลา

Myanmar’s State Counsellor Aung San Suu Kyi delivers a national address in Naypyidaw on September 19, 2017.. / AFP PHOTO / Ye Aung THU

สำนักข่าวบีบีซีตั้งข้อสังเกตว่าในการแถลงครั้งนี้ แม้นางซู จีประณามผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรงที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้นำหญิงกลับไม่พูดถึงข้อกล่าวหาที่มีต่อกองทัพพม่า เพียงแต่กล่าวว่าไม่มีการปะทะทางทหาร นับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.

ด้านองค์กร แอมแนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล โจมตีคำแถลงของนางซู จี ว่าพยายามทำเป็นเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ยอมกล่าวประณามกองทัพพม่าซึ่งปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ คำกล่าวของนางซู จีนั้นไร้น้ำหนัก เต็มไปด้วยคำหลอกลวง และไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

“ออง ซาน ซู จี แสดงให้เห็นแล้ววันนี้ว่าเธอและรัฐบาลยังคงเอาศีรษะฝังทราย (หลีกเลี่ยงความจริงและเพิกเฉย) ต่อสถานการณ์ความน่าสะพรึงกลัวที่ปรากฏอยู่ในรัฐยะไข่ ถ้อยแถลงของเธอเป็นเพียงการผสมเรื่องไม่จริงกับการตำหนิเหยื่อ” แถลงการณ์ของแอมเนสตี ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน