วันที่ 29 ก.ย. เว็บไซต์บีบีซีรายงานการค้นพบหนูพันธุ์ใหม่ของ ดร.ไทรอน ลาเวอรี่ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนาดใหญ่กว่าหนูปกติถึง 4 เท่าที่ประเทศหมู่เกาะโซโลมอน มหาสมุทรแปซิฟิก ใช้ฟันแทะมะพร้าวกินเป็นอาหาร

นิตยสารสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวิทยา ( Journal of Mammalogy) เผยแพร่การค้นพบนี้ว่า หนูพันธุ์ใหม่นี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Uromys vika ตัวยาวเกือบครึ่งเมตร กินถั่ว กินมะพร้าวเป็นอาหารดำรงชีพ ใช้ฟันแทะเปลือกถั่ว และเปิดมะพร้าวออก อาศัยอยู่บนต้นไม้

ปัจจุบันหมู่เกาะโซโลมอนเป็นแหล่งที่อยู่ของหนูสายพันธุ์อื่นๆอีก 8 สายพันธุ์อยู่แล้ว แต่การค้นพบสายพันธุ์ใหม่ข้างต้นถือเป็นการค้นพบครั้งแรกในรอบ 80 ปี แม้ชาวเกาะพื้นถิ่นพูดถึงหนูชนิดนี้มานานแล้ว

หมู่เกาะโซโลมอนห่างออกไปจากชายฝั่งทะเลของประเทศออสเตรเลีย 1,800 กิโลเมตร เครือข่ายของเกาะทำให้หมู่เกาะโซโลมอนตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเชิงชีวภาพ ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่เกาะแห่งนี้ ไม่พบในที่อื่นๆ

“เมื่อผมเจอคนจากเกาะแวงกูนูในหมู่เกาะโซโลมอน พวกเขาบอกผมว่าหนูเป็นสัตว์พื้นถิ่นของเกาะแวงกูนู ซึ่งพวกชาวบ้านเรียกว่า วีก้า อาศัยอยู่ตามต้นไม้”ดร.ไทรอน ลาเวอรี่ นักวิจัยจากฟิลด์มิวเซียม ในนครชิคาโก สหรัฐอเมริกากล่าว

ผลงานแทะ

แม้ว่าได้พยายามค้นหาหนูสายพันธุ์ใหม่ที่ว่ามาตั้งแต่ปี 2553 ดร.ลาเวอรี่ไม่สามารถที่จะพบหลักฐานหนูตัวใหญ่นี้ตัวเป็นๆ นอกจากมูลขนาดใหญ่ของมัน

“ทำให้ผมเริ่มสงสัยว่ามันคือหนูพันธุ์ใหม่จริงหรือเปล่า หรือชาวบ้านแค่เรียกหนูสีดำตัวปกติตัวนั้นว่าวีก้า”

เมื่อเดือนพ.ย. 2558 มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้พบหนูตัวใหญ่ร่วงจากต้นไม้สูง 10 เมตร จนเสียชีวิต เพราะคนตัดไม้โค่นต้นไม้ลงมา จึงนำตัวอย่างของมันไปตรวจสอบที่ควีนสแลนด์มิวเซียม ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งดร.ลาเวอรี่ทำงานเป็นนักวิจัยอยู่

“ทันทีที่ผมได้ตรวจสอบตัวอย่าง ผมรู้ว่ามันต่างออกไป” ดร.ลาเวอรี่กล่าวและว่าเนื่องจากรู้กันว่ามีหนูพื้นถิ่นเพียง 8 สายพันธุ์บนหมู่เกาะโซโลมอน ผมศึกษาหัวกะโหลกและหลัง จากทดสอบดีเอ็นเอ ก็ยืนยันว่าเป็นหนูพันธุ์ใหม่

ยูโรมิส วีก้า มีหางเป็นเกล็ดยาว เชื่อว่าช่วยให้มันยึดเกาะขณะอยู่บนต้นไม้ แต่ตัวยูโรมิส วีก้ามีแนวโน้มที่จะถูกจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทันที เนื่องจากเจอภัยคุกคามที่พวกมันเผชิญอยู่ตอนนี้จากการตัดไม้ เพราะร้อยละ 90 ของต้นไม้บนเกาะแห่งนี้ถูกโค่นลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน