อินไซด์ต่างประเทศ

วิจักขณ์ ชิตรัตน์

เมื่อปี 2015 มีผู้อพยพหนีเข้ายุโรปกว่า 1 ล้านคน ปี 2016 ลดลงเหลือไม่ถึง 400,000 คน ส่วนครึ่งแรกของปี 2017 อยู่ที่ 100,000 กว่าคน ตัวเลขที่ลดลงนั้นไม่ใช่เพราะสงครามและความขัดแย้งลดลง แต่เพราะยุโรปจ่ายเงินให้ประเทศที่เป็น“จุดส่งต่อ” หาทางกันไม่ให้คนที่สิ้นหวังเหล่านี้เข้ายุโรปด้วย

วิธีการแบบนี้ยุโรปใช้กับตุรกี จึงส่งผลให้เห็นในปี 2016 ส่วนปี 2017 นี้ ผู้ลี้ภัยยังเดินหน้าเข้ายุโรป แต่เปลี่ยนจุดส่งต่อเป็นลิเบีย และมาวันนี้ 2-3 ประเทศในยุโรปที่กางแขนต้อนรับผู้ลี้ภัยในปี 2015 ก็คิดจะจ่ายเงินให้ลิเบียเหมือนกับที่ทำกับตุรกีบ้าง แต่ก็โดนกาชาดสากลสวดหนักว่าไม่เหมาะสม เพราะลิเบียไม่ได้เป็นภาคีของความตกลงใดๆ เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยสักฉบับ

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังศาลสหภาพยุโรปมีคำสั่งให้สมาชิกทุกประเทศต้องรับผู้ลี้ภัยตาม “โควตาบังคับ” ซึ่งตัวเลขจะอยู่ที่ 120,000-160,000 คนสำหรับหลายๆ ประเทศ อันเป็นประเด็นที่โรมาเนีย ฮังการี สโลวะเกีย ค้านมาแต่แรกและบวกด้วยโปแลนด์ เรื่องนี้ทำให้เกิดความแตกแยกพอควรในสหภาพ อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ ออสเตรียก็บอกอิตาลีว่าตนเองอาจจะปิดพรมแดนที่ติดกับอิตาลี เว้นแต่อิตาลีจะหาทางกันไม่ให้ผู้ลี้ภัย ที่ขึ้นยุโรปที่ชายฝั่งอิตาลีเดินทางเข้าออสเตรีย

ประเทศที่เอ่ยมานี้ ล้วนแต่บอกว่าตนเองยึดมั่น เยินยอ สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความยุติธรรม ด้วยกันทั้งสิ้น ในภาวะปกติ

นางแองเกลา แมร์เคิล ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 แต่หาเสียงด้วยการรับปากว่าจะไม่เปิดประเทศอีกต่อไป ความคิดนี้อาจจะมาจากนายบิล เกตส์ เจ้าพ่อไอทีหรือเปล่าที่แนะว่า เข้าใจดีว่าเยอรมนีต้องการแสดงออกถึงความเมตตา เอื้อเฟื้อ แต่วิกฤตผู้ลี้ภัยที่เจอมา 2-3 ปีนี้จะแย่ลงไปอีกหากไม่หาทางปิดกั้นผู้ลี้ภัยจากแอฟริกา ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าใครเมตตามากกว่าใคร

ใกล้บ้านเรา คนที่อาศัยที่อยู่ในรัฐยะไข่ของพม่าหนีภัยเข้าไปที่บังกลาเทศราว 400,000 คนแล้วในชั่วเวลาไม่กี่เดือน พม่าเรียกคนเหล่านี้ว่า “เบงกาลี” แต่บังกลาเทศเรียกคนกลุ่มเดียวกันนี้ว่า “โรฮิงยา” เช่นที่ชาวโลกส่วนใหญ่รู้จัก

ขณะนี้ชาวเวเนซุเอลาก็ข้ามพรมแดนเข้าไปที่โคลัมเบีย ราว 25,000 คน/วัน กลุ่มนี้ไปเพราะอดอยาก และส่วนใหญ่เข้าไปรับอาหารประจำวันจากผู้ที่เมตตาช่วยเหลือ

ไม่ว่าจะเป็นคนอาหรับ แอฟริกา ชาวโรฮิงยา-เบงกาลี หรือชาวเวเนฯ ทุกคนที่จำใจทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนตนเองก็ต้องเพราะมีทุกข์สาหัสทั้งสิ้น เมื่อเดินเข้าไปก็ต้องก้มหน้าด้วยความรู้สึกต่ำต้อย ที่ต้องแบกหน้ามาขอความเมตตาจากผู้อื่น

ในสังคมมนุษย์นั้น สิ่งที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งง่ายๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน และสิ่งเหล่านี้สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูดสั้นๆ ทั้งนั้น นั่นคือ เสรีภาพ ความยุติธรรม ศักดิ์ศรี หน้าที่ ความเมตตา และความหวัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน