วันที่ 18 ต.ค. เอพีรายงานว่า การเปิดแฟ้มข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นแฟ้มลับทางราชการ ในยุคสงครามเย็น ยืนยันข้อมูลเขย่าขวัญว่า รัฐบาลสหรัฐรู้เห็นเป็นใจและสนับสนุนให้ทหารและรัฐบาลอินโดนีเซียสังหารหมู่บุคคลที่เป็นหรือต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างชนิดนองเลือด ในยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 (พ.ศ.2503-2512)

เอกสารของสถานทูตสหรัฐที่ระบุเหตุการณ์สะเทือนขวัญในช่วงเวลา พ.ศ. 2506-2509 เปิดเผยสู่สาธารณชนเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 18 ต.ค. 2560 ตามผลการพิจารณาของรัฐบาลสหรัฐยุคนายบารัก โอบามา ตั้งแต่เมื่อปี 2554 ว่าให้เอกสารชุดนี้มิได้เป็นความลับอีกต่อไป (declassified documents) แม้ซีไอเอจะพยายามคัดค้านแล้วก็ตาม

การจัดแสดงหุ่นจำลองฉากการสังหารโหดเมื่อปี 2508 ที่กองทัพกล่าวหาฝ่ายคอมมิวนิสต์คิดก่อรัฐประหาร นำไปสู่การปราบปรามอย่างนองเลือด (AP Photo/Dita Alangkara)

เอกสารดังกล่าวเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการปราบปรามทางการเมืองที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียยุคใหม่ เมื่อทหารและกลุ่มชาวบ้านติดอาวุธร่วมกันสังหารผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย (พีเคไอ) มากกว่า 500,000 ราย

ในปี 2508 อินโดนีเซียเคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ขนาดใหญ่รองจากจีนและสหภาพโซเวียต มีสมาชิกนับล้าน พร้อมกับมีประธานาธิบดีซูการ์โนที่สนับสนุนลัทธิสังคมนิยมและต่อต้านอเมริกา ทำให้กองทัพในยุคนั้นไม่พอใจ จนถูกนายพลซูฮาร์โตโค่นอำนาจแล้วนำประเทศเข้าหาสหรัฐ เปิดตลาดขนาดใหญ่ให้อเมริกา พร้อมกับการเปิดฉากปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยข้ออ้างว่าพยายามก่อรัฐประหาร

นายพลซูฮาร์โต

เอกสารดังกล่าวเผยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐทั่วอินโดนีเซียรู้ว่าเกิดการสังหารหมู่ดังกล่าวขึ้น เช่น ในโทรเลขหนึ่งที่ส่งจากเมืองสุราบายาลงวันที่ 26 พ.ย.2508 กงสุลสหรัฐระบุว่า มีรายงานจำนวนมากระบุว่ามีการสังหารหมู่ในวงกว้าง ด้วยจำนวนสมาชิกคอมมิวนิสต์จำนวน 15,000 คนถูกสังหารในคราวเดียว

รวมถึงมีรายงานว่านักโทษถูกทหารคุมขังถูกส่งไปให้พลเรือนฆ่าหมู่ เหยื่อถูกนำออกจากพื้นที่ที่คนอยู่กันหนาแน่นก่อนต่อมาจะถูกฆ่าและศพถูกฝังมากกว่าถูกโยนลงแม่น้ำ

เหตุการณ์ปี 2508

สถานกงสุลสหรัฐในเมืองเมดาน ให้รายละเอียดว่านักบวชมุสลิมบอกว่าการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์เป็นพันธะข้อผูกพันทางศาสนาเทียบได้กับการฆ่าไก่

รายงานเอกสาร 4 หน้าที่เขียนโดยนายเอ็ดเวิร์ด อี. มาสเตอร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง ของสถานทูตอเมริกันเมื่อปี 2508 มีใจความหารือถึงการสังหารหมู่หลายจุดในจังหวัดต่างๆ ของอินโดนีเซีย และเอ่ยชมบทบาทของกลุ่มเยาวชนที่ใช้คำว่า “จัดการแก้ปัญหาหลัก” ด้วยการประหารนักโทษพีเคไอ หรือชิงสังหารก่อนจับกุม พร้อมระบุว่า เฉพาะจังหวัดชวากลาง มีนักโทษถึง 62,000 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน