อวกาศ : ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก เคยเกิดระเบิดครั้งใหญ่เมื่อ 3.5 ล้านปีก่อน – BBCไทย
แม้ในปัจจุบันบริเวณศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกซึ่งเป็นดาราจักรที่เราอาศัยอยู่ จะไม่สู้มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับกาแล็กซีอื่น ๆ แต่ในอดีตหลายล้านปีก่อนอาจไม่เป็นเช่นนั้น โดยล่าสุดมีการพบหลักฐานยืนยันว่า เคยมีการปะทุพลังงานครั้งรุนแรงใกล้หลุมดำใจกลางดาราจักรเมื่อ 3.5 ล้านปีที่แล้ว จนคลื่นกระแทกของการระเบิดแผ่ไปได้ไกลถึง 2 แสนปีแสง
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยดาราศาสตร์วิทยุระหว่างประเทศ (ICRAR) ของออสเตรเลีย เตรียมรายงานการค้นพบข้างต้นในวารสาร The Astrophysical Journal โดยจะเผยถึงผลการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลติดตามศึกษาเหตุการณ์ระเบิดปะทุพลังงานครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Seyfert flare ซึ่งสังเกตพบครั้งแรกในปี 2013
- กาแล็กซีทางช้างเผือกรูปทรงไม่เหมือนจานแบน แต่โค้งงอบิดเบี้ยวที่ริมขอบ
- กาแล็กซีทางช้างเผือก “ตาย” ไปแล้วครั้งหนึ่งก่อนฟื้นคืนชีพใหม่
- กาแล็กซีทางช้างเผือกเขมือบดาราจักรอื่นไปแล้ว 15 แห่ง
ในครั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบการแผ่รังสีแกมมาและรังสีเอกซ์เป็นรูปทรงกรวยในสองทิศทางออกมาจากกาแล็กซีทางช้างเผือก ทั้งที่ด้านบนและด้านล่างของระนาบดาราจักรแนวนอน โดยรังสีดังกล่าวแผ่ออกจากจุดใกล้หลุมดำมวลยิ่งยวดซาจิตทาเรียสเอสตาร์ (Sgr A*)ไปได้ไกลถึงข้างละ 25,000 ปีแสง
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่า กลุ่มก๊าซบางส่วนในกระแสธารแมกเจลแลน (Magellanic Stream) ซึ่งเป็นแถบของกลุ่มก๊าซที่ห่อหุ้มกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่และเล็กเอาไว้นั้น ได้รับพลังงานจากคลื่นกระแทกของการระเบิดและการแผ่รังสีดังกล่าว จนทำให้กลุ่มก๊าซในทิศทางที่ตรงกับการระเบิดแตกตัวเป็นประจุไฟฟ้า แม้จะตั้งอยู่ห่างจากกาแลกซีทางช้างเผือกถึง 2 แสนปีแสงก็ตาม

ภาพจำลองการแผ่รังสีครั้งใหญ่จากใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงกระแสธารแมกเจลแลน (ขวา)
ทีมผู้วิจัยยังระบุว่า เหตุการณ์ระเบิดครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 3.5 ล้านปีก่อนนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหลุมดำใจกลางดาราจักรมีการดูดกลืนเอามวลสารปริมาณมากเข้าไป จนมีการปะทุปลดปล่อยพลังงานในรูปของรังสีและไอพ่นอนุภาคพลังงานสูงออกมา
- หลุมดำใหญ่เท่าดาวพฤหัสบดี กำลังเคลื่อนตัวไปรอบใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก
- ดวงดาวในกาแล็กซีทางช้างเผือกเคลื่อนที่เหมือนระลอกคลื่น
ผลการคำนวณของทีมวิจัยยังชี้ว่า เหตุการณ์ปะทุพลังงานครั้งใหญ่จากใจกลางกาแลกซีทางช้างเผือก อาจดำเนินไปเป็นเวลานานถึง 3 แสนปี ซึ่งตรงกับโลกในสมัยไพลโอซีน (Pliocene) แต่โลกไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการระเบิดครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ห่างออกไป 26,000 ปีแสง และไม่ได้อยู่ในเส้นทางของคลื่นกระแทก
ดร. แมกดา กูกลิเอลโม หนึ่งในสมาชิกของทีมผู้วิจัยบอกว่า “การค้นพบครั้งนี้เปลี่ยนแปลงความคิดที่เราเคยมีต่อกาแล็กซีทางช้างเผือกไปอย่างสิ้นเชิง”
“ในอดีตนักดาราศาสตร์มักมองว่า ดาราจักรที่เราอาศัยอยู่นั้นช่างเงียบสงบ ไร้ความเคลื่อนไหวใด ๆ แต่ที่จริงแล้วมันเคยมีพลวัตความเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังมากทีเดียว ซึ่งการค้นพบนี้จะปฏิวัติแนวทางการศึกษาอดีตและพัฒนาการของดาราจักรต่อไปในอนาคต”