กูเกิลทำความตกลงกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพรายใหญ่ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ของคนไข้จำนวนมหาศาลในสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้คนไข้ได้รับรู้
โครงการที่มีชื่อว่าโครงการไนติงเกล (Project Nightingale) เป็นข้อตกลงที่จัดทำขึ้นระหว่างกูเกิลและแอสเซนชั่น (Ascension) ผู้ให้บริการด้านสุขภาพรายใหญ่
วอลล์ สตรีต เจอร์นัล ซึ่งเป็นสื่อรายแรกที่รายงานข่าวเรื่องนี้ระบุว่าข้อมูลที่กูเกิลสามารถเข้าถึงได้มีตั้งแต่ประวัติการ รักษาของคนไข้ ชื่อ และที่อยู่ ขณะที่กูเกิล ระบุว่าสิ่งนี้เป็น “การปฏิบัติตามมาตรฐานปกติ”
มีรายงานว่าข้อมูลของคนไข้ที่กูเกิลสามารถเข้าถึงได้ภายใต้ข้อตกลงนี้ยังรวมถึง ผลการตรวจในห้องปฏิบัติการ การตรวจวินิจฉัยโรค ประวัติการรับการรักษาที่โรงพยาบาล และวันเดือนปีเกิด ซึ่งกูเกิลสามารถดูข้อมูลเหล่านี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งทั้งแพทย์หรือคนไข้ก่อน
วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า กูเกิลได้เริ่มเข้าดูข้อมูลดังกล่าวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

กูเกิล ระบุว่าความร่วมมือที่ทำกับแอสเซนชั่นเป็นไปตามกฎเกณฑ์ปฏิบัติ ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการควบคุมและการส่งผ่าน ข้อมูลทางด้านการประกันสุขภาพของสหรัฐฯ ปี 1996 (Health Insurance Portability and Accountability Act–HIPAA)
“เพื่อความชัดเจน…ข้อมูลของคนไข้จะไม่ถูกนำมารวมและไม่อาจนำมารวมกับข้อมูลใด ๆ ของผู้ใช้งานกูเกิลได้” กูเกิลระบุเพิ่มเติม
- ศาลยุโรป ตัดสินให้ กูเกิล ไม่ต้องบังคับใช้ “สิทธิในการถูกลืม” ทั่วโลก
- สิทธิในการ “ถูกลืม” ในโลกออนไลน์ ข้อเสนอใหม่ในร่าง กม.อังกฤษ
- คำไหนคนไทยค้นทางกูเกิลมากที่สุดในปี 2561
แอสเซนชั่น ซึ่งบริหารโรงพยาบาล 2,600 แห่ง ระบุว่าข้อตกลงนี้จะช่วย “เพิ่มประสิทธิภาพ” ในการดูแลคนไข้ รวมทั้ง จะมีการพัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนแพทย์ด้วย
ทางบริษัทยังระบุด้วยว่า จะเริ่มใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลคลาวด์ (cloud data storage service) และแอปพลิเคชั่น ที่มีการใช้งานในทางธุรกิจที่รู้จักกันในชื่อ G Suite ของกูเกิลด้วย
ข้อกังวลความเป็นส่วนตัว
โครงการไนติงเกลก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างจากผู้ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าคนไข้ไม่อาจควบคุมข้อมูลของตัวเองได้
ศ.เจน เคย์ แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “นี่คือปัญหาใหญ่ของการทำความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ที่ทุกอย่างดำเนินไปภายใต้สัญญาของเอกชน จึงยากที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส”
“กูเกิลบอกว่าไม่ได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น ๆ ที่มีอยู่ แต่สิ่งที่กูเกิลทำตลอดเวลาคือการปรับอัลกอริทึม ให้ละเอียดมากขึ้น ทำให้สิ่งที่กูเกิลกำลังทำสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อสร้างข้อได้เปรียบด้านการตลาด”

อีกด้านหนึ่งองค์กรด้านสุขภาพหลายแห่ง กำลังเผชิญแรงกดดันให้ปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพในการรักษา พยาบาล หลายองค์กรจึงหันนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ แต่การทำเช่นนั้นบางครั้งก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการ กับข้อมูลรายละเอียดของคนไข้
ในสหราชอาณาจักร ดีปมายด์ (DeepMind) บริษัทลูกของกูเกิลที่ดูแลงานด้านปัญญาประดิษฐ์ ถูกตรวจสอบพบว่า ละเมิดกฎหมาย หลังจากที่บริษัทไม่สามารถให้คำอธิบายแก่คนไข้ได้อย่างชัดแจ้งว่า ข้อมูลที่จัดเก็บจะนำไปใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับโรคไตอย่างไร
เครื่องมือที่บริษัทพัฒนาขึ้นมีชื่อเรียกว่า สตรีมส์ (Streams) ได้รับการออกแบบมาให้เตือนคนไข้ที่มีความเสี่ยงเกิด อาการเจ็บที่ไตอย่างเฉียบพลัน