ฝ่ายค้าน-รัฐบาลอังกฤษ ประสานเสียงโลกตะวันตก ช่วยฮ่องกง กดดันจีนยกเลิกออกกฎหมายความมั่นคง – BBCไทย
ทางการจีนประกาศว่าจะ “ตอบโต้” สหราชอาณาจักรหากมอบสถานะพลเมือง ให้กับชาวฮ่องกงทื่ถือหนังสือเดินทางแบบสัญชาติบริติชโพ้นทะเล หรือ BNO หากจีนไม่ระงับแผนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงกับฮ่องกง
ข้อเสนอนี้มีขึ้นหลังรัฐสภาจีนลงมติสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงกับฮ่องกง จะทำให้การฝ่าฝืนอำนาจปกครองของจีน ถือเป็นการก่ออาชญากรรม
นานาประเทศกังวลว่า กฎหมายความมั่นคงนี้จะเป็นสัญญาณสิ้นสุดสถานะพิเศษ ของเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง
รัฐบาลจีนระบุว่า ยังสงวนสิทธิที่จะ “ตอบโต้” ข้อเสนอนี้ของสหราชอาณาจักร
นายจ้าว ลี่เจี๋ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า สหราชอาณาจักรและจีนเคยตกลงกันว่าผู้ถือหนังสือเดินทางแบบสัญชาติบริติชโพ้นทะเล หรือ BNO จะไม่ได้รับสถานะพลเมืองสหราชอาณาจักร
“ผู้ถือหนังสือเดินทางแบบ BNO เป็นพลเรือนจีน ถ้าหากสหราชอาณาจักรยังยืนกรานที่จะเปลี่ยนข้อปฏิบัตินี้ ไม่เพียงเป็นการละเมิดจุดยืนของตนเอง แต่ยังละเมิดกฎหมายสากลด้วย”
ปัจจุบัน มีผู้ถือหนังสือเดินทางแบบBNOในฮ่องกงราว 3 แสนคน ผู้ถือหนังสือเดินทางนี้มีสิทธิเดินทางเข้าสหราชอาณาจักร และพำนักได้นานสูงสุด 6 เดือนโดยไม่ต้องขอวีซ่า
- #ชานมข้นกว่าเลือด แฮชแท็กมาแรงในไทยหลังสถานทูตจีนย้ำ “หลักการจีนเดียว” จากวิวาทะแฟนคลับซีรีส์วาย
- ประท้วงฮ่องกง : ตำรวจจับผู้ประท้วง 240 คน ต้านแผนใช้กฎหมายความมั่นคงของจีน

แถลงการณ์ของนายโดมินิก ราบ รมว. ต่างประเทศของอังกฤษ มีขึ้น หลังสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแคนาดา ออกแถลงการณ์ร่วมประณามแผนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงของจีน โดยระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้เป็นการละเมิดหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะส่งมอบอำนาจบริหารฮ่องกงคืนให้จีน เมื่อปี 1977
นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ทำให้ฮ่องกงมีสถานะที่ยังปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงมีสิทธิและเสรีภาพ ที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยังไม่มี
รัฐบาลจีนปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติต่อการเสนอกฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจมีผลบังคับใช้เร็วสุดช่วงปลายเดือน มิ.ย.
ลี่ ซ่านจู่ ประธานกรรมาธิการรัฐสภาชุดที่กำลังร่างกฎหมายนี้ ระบุว่า “กฎหมายนี้สอดรับกับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของชาวจีนทุกคน รวมถึงเพื่อนร่วมชาติในฮ่องกงด้วย”
คุณสมบัติของหนังสือเดินทาง BNO
สหราชอาณาจักรออกหนังสือเดินทางแบบสัญชาติบริติชโพ้นทะเลให้ประชาชนในฮ่องกง ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน เมื่อปี 1977
BNOเป็นหนังสือเดินทางที่ไม่ได้มอบสิทธิพลเมือง แต่ผู้ถือครองสามารถใช้เพื่อเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรและพำนักได้สูงสุด 6 เดือนโดยไม่ต้องขอวีซ่า นอกจากนี้ ผู้ถือครองยังมีสิทธิขอความช่วยเหลือด้านกงสุลจากสถานทูตสหราชอาณาจักรนอกฮ่องกงและจีนได้ด้วย
กงสุลใหญ่สหราชอาณาจักรในฮ่องกงระบุว่า ปัจจุบัน มีชาวฮ่องกงราว 3 แสนคนที่ถือครองหนังสือเดินทางนี้ และมีประชาชน 2 ล้าน 9 แสนคนที่มีสิทธิยื่นขอหนังสือเดินทางBNOได้
ทั้งนี้ แม้หนังสือเดินทางนี้จะช่วยให้ผู้ถือครองสามารถเดินทางและพำนักในสหราชอาณาจักรได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้พำนักในระยะยาว หรือทำงาน รวมถึงยังไม่ได้สิทธิเข้าถึงกองทุนสาธารณะต่าง ๆ และเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล
ผู้ถือหนังสือเดินทางBNOยังไม่สามารถโอนสถานะของตนให้กับบุตรหลานได้

โดมินิก ราบ ว่าอย่างไร
โดมินิก ราบ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่อาจเกิดขึ้น อาจรวมถึงการยกเลิกข้อกำหนดว่าผู้ถือหนังสือเดินทางแบบBNO จะพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรได้แค่ 6 เดือน
“หากจีนยังดึงดันและพยายามบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง เราจะยกเลิกข้อจำกัดหกเดือน และอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางแบบBNO สามารถเดินทางมาสหราชอาณาจักร รวมถึงสมัครเข้าทำงานหรือศึกษาได้โดยขยายเวลาพำนักได้นานถึง 12 เดือน ซึ่งการทำเช่นนี้ยังเปิดทางให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองได้ในอนาคต”
เจมส์ แลนเดล ผู้สื่อข่าวสายการทูตของบีบีซี วิเคราะห์ว่า รัฐบาลจีนอาจไม่ติดขัดอะไร หากนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง จะย้ายไปอยู่สหราชอาณาจักร แต่สิ่งที่จีนกังวลจริง ๆ คือ การสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถและสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้
ส.ส. สหราชอาณาจักรบางคนต้องการให้รัฐบาลมอบสถานะพลเมืองให้คนฮ่องกงแบบอัตโนมัติไปเลย

ทอม ทูเกนด์แฮต จากพรรคอนุรักษ์นิยม และประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยกิจการต่างประเทศ กล่าวว่า ผู้ถือหนังสือเดินทางแบบBNOควรมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตและทำงานในสหราชอาณาจักรแบบอัตโนมัติ
รัฐบาลสหราชอาณาจักรปฏิเสธเสียงเรียกร้องที่จะมอบสถานะพลเมืองให้ผู้ถือหนังสือเดินทางนี้ในฮ่องกงมาแล้ว
เมื่อปีที่แล้ว ประชาชนกว่า 1 แสนคนในฮ่องกงได้ลงนามในคำร้องเพื่อขอให้สหราชอาณาจักรมอบสถานะพลเรือนเต็มให้ แต่รัฐบาลชี้ว่า มีเพียงพลเมืองสหราชอาณาจักรและเมืองในประเทศเครือจักรภพบางประเทศเท่านั้น ที่จะมีสิทธิพำนักในสหราชอาณาจักร พร้อมอ้างถึงเอกสารทบทวนกฎหมายเมื่อปี 2007 ที่ระบุว่า การมอบสถานะพลเมืองสมบูรณ์ให้ผู้ถือหนังสือเดินทางBNOถือเป็นการละเมิดข้อตกลงที่สหราชอาณาจักรได้ส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน
อย่างไรก็ดี เมื่อปี 1972 สหราชอาณาจักรได้ให้ชาวยูกันดาเชื้อสายเอเชีย 3 หมื่นคนที่ถือหนังสือเดินทางแบบบริติชโพ้นทะเล เข้ามาลี้ภัย ภายหลัง อีดี อามิน ผู้นำทางทหารยูกันดาในเวลานั้น ได้สั่งให้ชาวเอเชียกว่า 6 หมื่นคนออกไปจากประเทศ
ในเวลานั้น ส.ส. บางคนชี้ว่าอินเดียควรรับผิดชอบผู้ลี้ภัยด้วยบางส่วน แต่นายกรัฐมนตรีเอ็ดวาร์ด ฮีธ ระบุว่า สหราชอาณาจักรมีพันธะที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้
กระแสตอบรับต่อข้อเสนอนี้เป็นอย่างไร
รัฐมนตรีต่างประเทศเงา ลิซา แนนดี จากพรรคเลเบอร์ กล่าวว่า สหราชอาณาจักรควรจะแข็งกร้าวกับจีนให้มากกว่านี้
เธอบอกกับบีบีซีว่า “นี่เป็นความพยายามล่าสุดของจีน เพื่อบั่นทอนปฏิญญาที่สหราชอาณาจักรได้ร่วมลงนามกับรัฐบาลจีน ด้วยจุดประสงค์พิทักษ์สถานะพิเศษของฮ่องกง ตอนที่เราได้ส่งมอบฮ่องกงคืน”
“เราอยากเห็นรัฐบาลสหราชอาณาจักรเพิ่มความแข็งกร้าวให้มากขึ้น”
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เจเรมี ฮันต์ ระบุว่า สหราชอาณาจักรควรร่วมมือกับชาติพันธมิตรเพื่อหลีกเลี่ยงโศกนาฎกรรมในฮ่องกง
เขาให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า “นี่เป็นช่วงเวลาที่อันตรายมากที่สุด เป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเงื่อนไขข้อตกลง”
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โฆษกของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กล่าวในการแถลงสรุปสถานการณ์ประจำวันว่า “รัฐบาลมีความวิตกต่อกฎหมายความมั่นคงที่จีนต้องการใช้กับฮ่องกง”

“เราชัดเจนมาตลอดว่ากฎหมายความมั่นคงนี้เสี่ยงบั่นทอนหลักการหนึ่งประเทศ สองระบบ”
“เราได้ติดต่ออย่างใกล้ชิดกับคู่ค้าในต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ เมื่อคืนนี้”
เขายังเสริมอีกว่า “สิ่งที่รัฐบาลจีนพยายามทำนั้น ถือเป็นการคุกคามและบั่นทอนสถานะกึ่งปกครองตนเองของฮ่องกง”
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายปอมเปโอ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้ของรัฐบาลจีน หมายความว่า เราไม่สามารถจัดฮ่องกงให้อยู่ในสถานะ “มีอิสระในการปกครองตนเองสูง” จากจีนแผ่นดินใหญ่ได้อีกต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจนำไปสู่การที่สหรัฐฯ จะปฎิบัติกับฮ่องกงในระดับเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานะศูนย์กลางการค้าของฮ่องกง