ระเบิดเลบานอน: จนท.การท่าเรือที่เกี่ยวข้องกับคลังเก็บแอมโมเนียมไนเตรทถูกกักบริเวณในบ้านพัก
ระเบิดเลบานอน: จนท.การท่าเรือที่เกี่ยวข้องกับคลังเก็บแอมโมเนียมไนเตรทถูกกักบริเวณในบ้านพัก - BBCไทย
เจ้าหน้าที่การท่าเรือกรุงเบรุตจำนวนหนึ่งถูกกักบริเวณในบ้านเพื่อรอการสอบสวนกรณีระเบิดครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 3 ส.ค. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 135 คนและบาดเจ็บมากกว่า 4,000 คน
ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังเร่งปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งประธานาธิบดีมิเชล อาอูน ของเลบานอนกล่าวว่าเหตุระเบิดเกิดจากแอมโมเนียมไนเตรต 2,750 ตัน ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าอย่างไม่ปลอดภัย
หลังเกิดเหตุ รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาสองสัปดาห์
สื่อเลบานอนรายงานว่าแอมโมเนียมไนเตรทนี้เป็นของกลางที่ถูกนำมาเก็บไว้ในคลังสินค้าบริเวณท่าเรือมาเป็นเวลา 6 ปี หลังจากเจ้าหน้าที่ยึดมาจากเรือขนส่งสินค้าลำหนึ่งในปี 2013

- เหตุระเบิดใหญ่ที่เมืองหลวงเลบานอน ยอดตายเพิ่มเป็น 135 ราย เจ็บอีกกว่า 4,000 ราย
- ภาพเหตุการณ์เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือกรุงเบรุตของเลบานอน
ผู้บริหารของการท่าเรือกรุงเบรุตและเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเปิดเผยกับสื่อมวลชนท้องถิ่นว่าพวกเขาได้ส่งหนังสือถึงศาลหลาครั้งเพื่อขอให้ย้ายศาลเคมีดังกล่าวออกไปหรืออนุญาตให้มีการจำหน่ายเสียเพื่อความปลอดภัยของท่าเรือ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ
นายฮัสซัน โคเรเทม ผู้จัดการท่าเรือกรุงเบรุต ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ OTV ว่าเจ้าหน้าที่การท่าฯ ทราบว่าสารดังกล่าวเป็นสารอันตราย "แต่ไม่คิดว่าจะร้ายแรงขนาดนี้"
ขณะที่นายบาดรี ดาเฮอร์ หัวหน้ากรมศุลกากร เลบานอน กล่าวว่าหน่วยงานของเขาเรียกร้องให้นำสารเคมีออกไปจากคลังสินค้า แต่ว่ามัน "ไม่เคยเกิดขึ้น"
"เราจะปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญเดินหน้าหาสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าว" นายดาเฮอร์ระบุ

นายมานัล อับเดล ซาหมัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศกล่าวว่า เจ้าหน้าที่การท่าเรือทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บและดูแลสารแอมโมเนียมไนเตรทในคลังสินค้าแห่งนี้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2014 ได้ถูกสั่งกักบริเวณในบ้านพัก
แอมโมเนียมไนเตรตถูกใช้ทำปุ๋ยเพื่อการเกษตรและเป็นวัตถุระเบิด
ประธานาธิบดีอาอูนกล่าวขณะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินเมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) ว่า "ไม่มีคำใดสามารถบรรยายถึงความน่ากลัวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเบรุตที่ทำให้จนทำให้เมืองนี้กลายเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติในชั่วพริบตา"
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ในสหราชอาณาจักรประเมินว่าการระเบิดมีกำลังประมาณหนึ่งในสิบของพลังระเบิดปรมาณูที่ถูกทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมาของประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและ "เป็นหนึ่งในการระเบิดที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก"
