- เผด็จ ขำเลิศสกุล
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหราชอาณาจักร
2 ก.ย. 2564 ครบรอบ 76 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ ผมขอใช้โอกาสนี้เล่าถึงบทบาทของคนไทยในอังกฤษที่เข้าเป็นสมาชิกของหน่วยงานราชการลับของรัฐบาลอังกฤษภายใต้ชื่อ Special Operations Executive หรือ SOE ที่ทำงานด้านหาข่าว สอดแนม และจารกรรมฝ่ายอักษะในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

REUTERS
นายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร ลงนามยอมรับการยอมจำนนในนามของฝ่ายสัมพันธมิตร การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ
คนไทยกลุ่มนี้คือส่วนหนึ่งของขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษที่ร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทยที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ นำข้อมูลเกี่ยวกับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองไทยขณะนั้น แจ้งต่อประเทศสัมพันธมิตร จนนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามในตะวันออกไกล และสงครามโลกครั้งที่สองในเวลาต่อมา
บทความนี้ให้ความสำคัญกับบทบาทของคนไทยกลุ่มนี้ โดยอ้างอิงข้อมูลส่วนใหญ่จากเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ และ SOE ที่ระบุถึงข้อมูลของบุคคลสำคัญของไทย ต่างจากที่คนไทยเข้าใจกัน เช่น ใช้ตำแหน่งของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ พระยามนูเวทย์วิมลนาทว่า อัครราชทูต (Minister) ไม่ใช่เอกอัครราชทูต (Ambassador)
- สงครามโลกครั้งที่ 2 : แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ปธน. เยอรมนี ขอให้โปแลนด์ยกโทษให้นาซี
- สงครามโลกครั้งที่ 2: ระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาในวันที่มิชิโกะเกือบไปขึ้นรถไฟไม่ทัน
- สมรภูมิโอกินาวา : การโฆษณาชวนเชื่อ และความโหดร้ายของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อเพื่อนร่วมชาติ

ช่วงเริ่มต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพา
ตั้งแต่ 02.00 น. ของ 8 ธ.ค. 2484 เรือรบญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และบางปู แม้มีการต่อต้านอย่างดุเดือดจากชาวบ้านในท้องถิ่น และทหาร รวมถึงยุวชนทหาร รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจลงนามสงบศึกกับญี่ปุ่นและทำอนุสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อ 21 ธ.ค. 2484 เพื่อร่วมมือกันทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจทำให้สยามเป็นส่วนหนึ่งของ “วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา” และยังอนุญาตให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการในการบุกพม่าและมลายู (ชื่อขณะนั้น) อีกด้วย ในที่สุด จอมพล ป. ก็ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเมื่อ 25 ม.ค. 2485
นับว่าโชคดีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ประกาศสงครามกลับต่อประเทศไทย และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตันได้ประณามการประกาศสงครามและการร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นของรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งสหรัฐฯ เข้าใจดีว่าการประกาศสงครามนี้ขัดต่อเจตจำนงของคนไทยที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการประกาศสงครามและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่อนุญาตให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการในการบุกพม่าและมลายู
ทว่า ทัศนคติของอังกฤษขณะนั้นแตกต่างอย่างมากจากทัศนคติของสหรัฐฯ นักเรียนไทยในอังกฤษเองก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทย จึงติดต่อพระยามนูเวทย์วิมลนาท (เปี๋ยน สุมาวงศ์) อัครราชทูตไทยในลอนดอนเพื่อขอจัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอนาคต แต่พระยามนูเวทย์วิมลนาทกลับยื่นการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยแก่อังกฤษ และไม่สนับสนุนให้นักศึกษาไทยจัดตั้งขบวนการใต้ดิน
ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงประกาศสงครามกับไทย ระงับกองทุนของรัฐบาลไทยทั้งหมด นักเรียนไทยและคนไทยโดยทั่วไปกลายเป็นศัตรูต่างด้าว ส่วนเจ้าหน้าที่สถานทูตก็ตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
ในวอชิงตัน ม.ร.ว. เสนีย์ ได้รับการติดต่อจาก เสนาะ ตันบุญยืน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักศึกษาจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งกรุงลอนดอน ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ม.ร.ว. เสนีย์มีความกังวลต่อสถานะของนักเรียนไทยในอังกฤษ หากพวกเขาปฏิเสธที่จะกลับไทย ก็จะต้องเผชิญกับความลำบากในอังกฤษ เนื่องจากไม่มีสิทธิ์ทำงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นทหาร ในทางกลับกัน หากพวกเขายอมกลับประเทศ บรรดาผู้เปิดเผยตัวสนับสนุนขบวนการต่อต้าน ก็จะเสี่ยงถูกญี่ปุ่นลงโทษรุนแรง

THE NATIONAL ARCHIVES
โทรเลขจากเสนีย์ ปราโมช ถึง มณี สาณะเสน 19 ก.ย. 2485
ด้วยข้อกังวลนี้ ต้นเดือนมีนาคม 2485 ม.ร.ว. เสนีย์ จึงมีแนวคิดจะส่ง มณี สาณะเสน คนไทยที่ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศมานานจากกรุงวอชิงตันไปกรุงลอนดอนเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือในการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ ก่อนไปอังกฤษ มณีได้พบเซอร์เจอรัลด์ แคมป์เบลล์ กงสุลอังกฤษในกรุงวอชิงตัน และอธิบายว่าเขาต้องการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในลอนดอน
“จะไม่เพียงแต่จะจัดระเบียบความช่วยเหลือทุกอย่างแก่ [สัมพันธมิตร – ผู้เขียน] ในช่วงปฏิบัติการทางทหารระยะปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมนายทหารชาวสยามที่ได้รับการฝึกฝนซึ่งจะสามารถให้ความช่วยเหลืออันมีค่าได้เมื่อการตอบโต้ของฝ่ายสัมพันธมิตรเกิดขึ้นจริงในภูมิภาค'”
เมื่อเซอร์เจอรัลด์ตอบรับแนวคิดนี้ ม.ร.ว. เสนีย์ จึงส่งมณีไปลอนดอนเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ที่จะเริ่มการเคลื่อนไหว
- 75 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทรัสเซียกับความปราชัยของญี่ปุ่น
- สายใยใดยกระดับความรู้สึกชาวโอกินาวาต่อพระจักรพรรดิ
- มารู้จักเครือข่ายเทิดทูน และต้านระบอบจักรพรรดิในญี่ปุ่น

THE NATIONAL ARCHIVES
กลุ่มนักเรียนไทยที่โรงเรียน Eastern Warfare ประเทศอินเดีย
การก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ
ราวต้นเดือนมิถุนายน 2485 มณีมาถึงลอนดอน ขณะที่การเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนเชลยศึกและผู้ถูกกักกันระหว่างอังกฤษและญี่ปุ่นกำลังดำเนินไป รัฐบาลจอมพล ป. ได้ประกาศเมื่อ 9 มิ.ย. ว่าชาวไทยทั้งหมดที่อยู่ในอังกฤษจะต้องเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเรือแลกเปลี่ยนลำแรก
คำสั่งนี้ระบุบทลงโทษสำหรับการไม่เชื่อฟังว่า หากเป็นเจ้าหน้าหรือข้าราชการของสถานทูตจะถูกไล่ออกจากราชการทันที แต่บทลงโทษสำหรับนักเรียนไทยที่ไม่ปฏิบัติตามนั้นรุนแรงกว่ามาก พวกเขาจะเสียสัญชาติไทยและจะถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศตลอดไป ประกาศของรัฐบาลนี้สร้างการเย้ยหยันในหมู่นักเรียนไทย แม้มีนักเรียนและเจ้าหน้าที่สถานทูตบางคนปฏิบัติตามและกลับไทยเมื่อ 18 ก.ค. 2485 คณะแลกเปลี่ยนที่เดินทางกลับไทยประกอบด้วย พระมนูเวทย์วิมลนาท เจ้าหน้าที่สถานทูตอีก 2 คน พร้อมด้วยคนไทยอื่นอีก 23 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน รวมถึงนักเรียนไทย 5 คนจากไอร์แลนด์ก็ออกจากลอนดอนเพื่อมาประเทศไทยเช่นกัน
แม้มีบทลงโทษที่รุนแรง แต่คนไทยกว่า 50 คน ตัดสินใจไม่กลับประเทศ ประกอบด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีและผู้ติดตามพระองค์ ข้าราชการสถานทูตอีกหลายคนรวมถึงนักเรียนไทยอีกจำนวนหนึ่ง พวกเขารวมตัวกันก่อตั้งขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษขึ้นด้วยการสนับสนุนจากมณี โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มเสรีไทยที่เป็นทหาร 36 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา และเสรีไทยที่ไม่ได้เป็นทหาร 17 คน

THE NATIONAL ARCHIVES
รายงานเกี่ยวกับจำนวนเสรีไทยที่เป็นทหารที่เข้ารับประจำการในกองร้อยที่ 253 เหล่าการโยธา
ด้วยความช่วยเหลือจาก ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และผู้นำเสรีไทยสายอังกฤษ อาสาสมัครเสรีไทยทั้ง 36 คนได้เข้าประจําการกับกองทัพบกอังกฤษ เป็นทหารในกองร้อยที่ 253 เหล่าการโยธา (253 Company, Pioneer Corps) เสรีไทยกลุ่มนี้เดินทางถึงอินเดียเมื่อ 26 เม.ย. 2486 เพื่อฝึกเพิ่มเติม บางคนถูกส่งตัวไปปฏิบัติงานกับหน่วยสืบราชการลับ (Secret Intelligence Service – SIS) บางคนถูกส่งตัวไปทำงานให้กับหน่วยโฆษณาการในกระทรวงสารสนเทศ
ส่วนอีก 23 คนซึ่งผ่านการฝึกอบรมในการกระโดดร่ม การอ่านแผนที่ และหลักสูตรกึ่งทหารได้รับเลือกเข้าร่วมกับหน่วยบริหารปฏิบัติการพิเศษ SOE, กองกำลังที่ 136 (Force 136) ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พลเรือเอก ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบ็ตเทน ซึ่งเป็นแม่ทัพสูงสุดของกองกำลังสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งกองบัญชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Command – SEAC) ซึ่งอยู่ที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา กองกำลังที่ 136 นี้ ก็ได้ร่วมปฏิบัติการกับองค์กรปฏิบัติการลับอื่น เช่น หน่วยสืบราชการลับ SIS, กรมข่าวกรองแผนก 9 (Military Intelligence Section 9 – MI9), และสำนักบริการด้าน ยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Services – OSS) ในการปฏิบัติการลับในตะวันออกไกล

สถาบันปรีดี พนมยงค์
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 กับ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

THE NATIONAL ARCHIVES
รายชื่อของเสรีไทย 36 คน ที่เป็นทหาร, อันดับที่ 37 คือ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ รัฐบาลอังกฤษรับเป็นทหารต่างหาก

THE NATIONAL ARCHIVES
รายชื่อของ 23 คนไทยที่ได้คัดเลือกเข้าร่วมกับหน่วยบริหารปฏิบัติการพิเศษ (Special Operations Executive, (SOE)), กองกำลังที่ 136 (Force 136)
“เพื่อชาติ เพื่อ humanity”
กุมภาพันธ์ 2486 นายพลเจียง ไคเช็ค ประกาศว่าจีนไม่ต้องการดินแดนของไทย และพร้อมที่จะยอมรับเอกราชของไทย การประกาศของนายพลเจียงนี้ก็ได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกา
หลังทราบคำประกาศนี้ นายปรีดี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นผู้นำขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะส่งผู้แทนเป็นการลับออกไปเมืองจุงกิง หรือ ฉงชิ่ง ใน ปัจจุบัน เพื่อขอคำยืนยันว่ารัฐบาลจีนและอเมริกายินดีที่จะปฏิบัติตามคำประกาศของเจียง ในขณะเดียวกันก็ต้องการหยั่งความคิดเห็นของรัฐบาลอังกฤษในเรื่องนี้ รวมถึงการเจรจากับอังกฤษให้ช่วยพาปรีดีออกจากประเทศไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย และขอให้รัฐบาลอังกฤษยอมคืนเงินของไทยที่อังกฤษอายัดไว้
ปรีดีตัดสินใจเลือก จำกัด พลางกูร ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และอดีตข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เดินทางไปยังเมืองจุงกิง ปรีดีบอกทิ้งท้ายกับจํากัดในวันที่เข้าอำลาที่ทำเนียบท่าช้างเมื่อ 27 ก.พ. 2486 ว่า “เพื่อชาติ เพื่อ humanity (มนุษยชาติ) นะคุณ เคราะห์ดีที่สุด อีก 45 วันก็ได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีก 2 ปีก็ได้พบกัน และเคราะห์ร้ายที่สุดก็ได้ชื่อว่า สละชีวิตเพื่อชาติไป”

สถาบันปรีดี พนมยงค์
จากซ้ายไปขวา ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช – นายจำกัด พลางกูร – นายไพศาล ตระกูลลี้
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ภารกิจของจำกัดไม่ประสบความสำเร็จ อังกฤษยังไม่ยอมรับสถานะของขบวนการเสรีไทย ด้วยเหตุผลว่า
“จำกัดเดินทางออกมาโดยที่ไม่มีการวางแผนงานอย่างรอบคอบ รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ (อังกฤษ) เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะสนับสนุนขบวนการเสรึไทย (ในประเทศไทย) ในขณะนี้ นอกจากนี้ (ศักยภาพของ) กองทัพไทยจะเป็นตัวถ่วงมากกว่าที่จะช่วยเหลือและถ้าขบวนการเสรีไทย (ในประเทศไทย) จะปฏิบัติการอะไรในขณะนี้ ญี่ปุ่นก็จะทำการแก้แค้น”

THE NATIONAL ARCHIVES
คำชี้แจ้งจากรัฐบาลอังกฤษต่อการเดินทางมาที่จุงกิงของจำกัด พลางกูร
และนี่จึงทำให้อังกฤษไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อสนองตอบต่อภารกิจของจำกัด ต่อมาจำกัดเสียชีวิตเมื่อ 7 ต.ค. 2486 แต่ถึงกระนั้นก็ตามสิ่งหนึ่งที่จำกัด ได้ทำคือ เป็นคนแรกที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบว่าการประกาศสงครามที่ไทยทำต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นไม่ถูกแบบแผนตามรัฐธรรมนูญของไทย(เรื่องนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ประเทศสัมพันธมิตรรับรองให้ไทยอ้างในการประกาศสันติภาพเมื่อ 16 ส.ค. 2488) และการเดินทางมาที่เมืองจุงกิงก็ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอังกฤษตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ว่าอาจมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นแล้วในไทย ซึ่งทำให้อังกฤษเริ่มหาหนทางที่จะติดต่อกับผู้นำขบวนการเสรีไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา
คนไทยกับปฏิบัติการของหน่วย SOE ของอังกฤษ
21 เม.ย. 2486 จำกัดเดินทางถึงจุงกิงพร้อมกับล่าม คือ ไพศาล ตระกูลลี้ ผู้แตกฉานภาษาจีน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เสรีไทยสายอังกฤษก็ได้ฝึกปฏิบัติการสู้รบแบบกองโจรระยะสุดท้ายที่โรงเรียน Eastern Warfare School (India) ณ เมืองปูณา (ปูเณ ในปัจจุบัน) ประเทศอินเดีย ประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2486 ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลอังกฤษให้เดินทางไปพบจำกัดที่เมืองจุงกิง
จากการพูดคุยก็ได้รับการยืนยันจากจํากัดว่ามีการก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทยจริง การยืนยันของจำกัดนี้รวมทั้งการข่าวที่ได้รับจากรายงานของ พันเอก ลินเซย์ ที.ไรด์ ผู้บังคับการหน่วยความช่วยเหลือของกองทัพบกอังกฤษ (British Army Aid Group – B.A.A.G.) [หน่วยนี้รับผิดชอบในด้านการให้ความช่วยเหลือแก่เชลยศึกและผู้ถูกคุมขังให้หลบหนีจากค่ายกักกันของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นและจัดอยู่ในหน่วยข่าวกรองแผนก 9 หรือ MI9] ทำให้ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท มั่นใจถึงการมีอยู่จริงของขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ต่อมา ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทได้ส่งคนจากยูนนานให้ลักลอบเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อที่จะส่งสาส์นลับจากกองทัพอังกฤษมาถึงปรีดีในการที่จะส่งเสรีไทยสายอังกฤษซึ่งกําลังฝึกอยู่ที่เมืองปูณาเข้าไปปฏิบัติงานในประเทศไทย
- 9 มี.ค. 2563 104 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “บิดาของประเทศไทยยุคใหม่”
- ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของไทยและบุคคลสำคัญของโลก
- 123 ปี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทหารมักใหญ่ใฝ่สูงหรือผู้นำมากวิสัยทัศน์
ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2486 อังกฤษส่งชุด “ปฏิบัติการ พริทชาร์ด” (Operation Pritchard) ประกอบด้วย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประทาน เปรมกมล และ สำราญ วรรณพฤกษ์ เข้ามาโดยเรือดำน้ำ มีกำหนดขึ้นฝั่งบริเวณชายฝั่งตะกั่วป่า จ. พังงา พร้อมกับเครื่องรับส่งวิทยุ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานีวิทยุสื่อสารเพื่อใช้ติดต่อระหว่างขบวนการเสรีไทยในประเทศไทยกับกองบัญชาการ SEAC แต่ปฏิบัติการนี้ล้มเหลว สาเหตุมาจากผู้ถือสาส์นที่ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทส่งมาจากยูนนาน เข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อมิถุนายน 2487 ช้าไปจากแผนที่กำหนดหลายเดือน
หลังจากความล้มเหลวของ “ปฏิบัติการพริทชาร์ด” แผนการเข้าประเทศไทยได้เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งในกลางเดือนมีนาคม 2487 โดยใช้ ชื่อรหัสการปฏิบัติการ “แอพพรีชีเอชั่น 1” (“Operation Appreciation 1”) การปฏิบัติการครั้งนี้จะเป็นการกระโดดร่มแบบสุ่ม หรือ Blind Dropping ลงในพื้นที่ใกล้กับ จ. นครสวรรค์ซึ่งมีป๋วย ในฐานะหัวหน้าหน่วยอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งประทาน และ เปรม บุรี ทำหน้าที่พนักงานวิทยุ เป้าหมายของการปฏิบัติยังเป็นเช่นเดียวกับ “ปฏิบัติการพริทชาร์ด” คือการติดต่อกับปรีดี และการสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการส่งเสบียงและหน่วยปฏิบัติการทางอากาศ (Dropzone – DZ)) สำหรับชุดปฏิบัติการชุดอื่นที่จะตามมาในอนาคต
แต่โชคไม่ดีที่หน่วยของป๋วยกระโดดร่มลงผิดตำแหน่งโดยไปตกลงที่ อ. วังน้ำขาว จ. ชัยนาท ซึ่งอยู่ห่างจากพิกัดตามแผน “แอพพรีชีเอชั่น 1” ประมาณ 60 กิโลเมตร และต่อมาทีมของป๋วยก็ถูกชาวบ้านในบริเวณนั้นจับได้ หนึ่งเดือนต่อมา “ปฏิบัติการแอพพรีชีเอชั่น 2” ซึ่งประกอบด้วย สำราญ วรรณพฤกษ์ ธนา โปษยานนท์ และ รจิต บุรี ก็รับคำสั่งให้มาติดตามกลุ่มของป๋วยแต่ก็ถูกจับได้อีกเช่นกัน
ผู้ปฏิบัติการทั้งสองชุดถูกนำไปขังที่กองตำรวจสันติบาลในกรุงเทพฯ และต่อมาหน่วยสารวัตรทหารของญี่ปุ่น (Kempeitai) ประสงค์จะสอบปากคำผู้ที่ถูกจับจากการเข้ามาปฏิบัติการทั้งสองชุด แต่ก่อนที่จะมีการสอบปากคำได้มีการเจรจาตกลงกันว่าญี่ปุ่นจะสอบปากคำได้ต้องมีนายทหารไทยนั่งร่วมในการสอบปากคำด้วยและจะต้องอยู่ในความคุ้มครองจากตำรวจไทย ซึ่งผู้ปฏิบัติการทั้งสองชุดก็ไม่มีใครให้ความร่วมมือในการเปิดเผยความลับของปฏิบัติการ ต่อมาด้วยความช่วย เหลืออย่างลับ ๆ จากตำรวจสันติบาล มีความเป็นไปได้มากที่หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ขณะนั้นทราบเรื่องด้วย ทำให้ป๋วยสามารถแอบไปพบปรีดี และติดต่อกับฐานทัพอังกฤษที่อินเดียได้สำเร็จ ผลของการการปฏิบัติภารกิจนี้ทำให้แนวการสื่อสารระหว่างขบวนการเสรีไทยในไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างมั่นคง ป๋วย และทีมของเขาได้รับการเสนอชื่อเข้ารับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Member of the Most Excellent Order of the British Empire (MBE)

THE NATIONAL ARCHIVES
ใบประวัติรายงานตัวของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ (SOE) ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ 18 ส.ค. 2485
หลัง “ปฏิบัติการแอพพรีชีเอชั่น” ทั้งสองคณะแล้วการสื่อสารระหว่างกองบัญชาการ SEAC ที่อินเดียกับขบวนการเสรีไทยในประเทศก็สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ต่อมามีคณะปฏิบัติการชุดอื่นเข้ามาอีกไม่ต่ำกว่าสิบชุด
ปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยได้ให้ข้อมูลอันล้ำค่าเกี่ยวกับตำแหน่งทางทหารของญี่ปุ่น และให้การช่วยเหลือทหารพันธมิตรที่ถูกจับเป็นเชลยได้จำนวนมาก เสรีไทยสายอังกฤษที่ได้อาสาเข้าปฏิบัติการร่วมกับหน่วยบริหารงานพิเศษ SOE ทำประเทศสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอังกฤษ เห็นถึงความตั้งใจของชาวไทยในการต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้ไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงครามตามญี่ปุ่นภายหลังจากการเซ็นสัญญาสื้นสุดสงครามเมื่อ 2 ก.ย. 2488
ในจำนวนคนไทย 23 คนที่ได้คัดเลือกเข้าร่วมกับหน่วยบริหารปฏิบัติการพิเศษ SOE มี 11 คนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Member of the Most Excellent Order of the British Empire (MBE) และอีก 2 คนได้รับได้รับเหรียญกล้าหาญ (Military Cross – MC)) จากพระเจ้าจอร์จที่หก และมีรายชื่ออยู่ในราชกิจจานุเบกษา

THE NATIONAL ARCHIEVES
ประกาศราชกิจจานุเบกษารายชื่อของเสรีไทยสายอังกฤษ 11 คน ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Member of the Most Excellent Order of the British Empire (MBE)
เผด็จ ขำเลิศสกุล เป็นนักวิจัยประวัติศาสตร์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหราชอาณาจักร
……………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว