“แม่ครับ ผมเป็นอิสระแล้ว ผมสบายดีครับ” ผู้อพยพหนุ่มชาวเฮติพูดคุยกับแม่ของเขาผ่านทางโทรศัพท์ หลังจากได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสหรัฐฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เขากำลังรอเข้าไปพักที่ศูนย์พักพิงในเมืองเดล ริโอ เมืองเล็ก ๆ ที่อยู่บริเวณพรมแดนที่ติดกับเม็กซิโก ซึ่งเต็มไปด้วยผู้อพยพชาวเฮติที่เดินทางเข้ามาในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้
มือซ้ายของหนุ่มคนนี้กำลังถือโทรศัพท์พูดคุยกับแม่ ส่วนมือขวากำลังร้อยเชือกรองเท้าอยู่ ตำรวจยึดรองเท้าของเขาไว้หลังจากที่เขาถูกจับกุมตัว ตอนนี้เขาได้รับรองเท้าคืนมา และได้รับอิสรภาพอีกครั้ง

เวลา 08.30 น. วันอังคารที่ 21 ก.ย. รถ 3 คัน มาจอดอยู่ที่หน้าทางเข้าศูนย์พักพิงดังกล่าว
ตำรวจตระเวนชายแดนออกมาจากรถ เปิดประตูรถและให้ผู้อพยพซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ตามศูนย์ควบคุมตัวหลายแห่งออกมาจากรถทีละคน มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก
“ยินดีต้อนรับ กรุณาเข้าแถวทางขวามือ” หนึ่งในอาสาสมัครกล่าว และทุกคนก็เริ่มต่อแถวที่ประตูศูนย์พักพิงของศูนย์แนวร่วมมนุษยธรรมพรมแดนวาล แวร์เด (Val Verde Border Humanitarian Coalition Center)
พวกเขารู้สึกว่าตัวเองโชคดี กระบวนการพิจารณาเหตุผลในการขอลี้ภัยในสหรัฐฯ ของพวกเขาได้เริ่มขึ้นแล้ว และในระหว่างนี้ พวกเขาได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในสหรัฐฯ ได้ พวกเขาโชคดีมากกว่าเพื่อนร่วมชาติชาวเฮติหลายร้อยคนที่ถูกจับกุมตัวและส่งกลับประเทศ

เดล ริโอ เป็นที่ตั้งของเขื่อน ลา อามิสตัด (La Amistad ซึ่งแปลว่า มิตรภาพ) และเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ของพี่น้องโคเอนเรื่อง No Country for Old Men (ปี 2007) หรือมีชื่อภาษาไทยว่า “ล่าคนดุในเมืองเดือด” นำแสดงโดยฮาเวียร์ บาร์เด็ม
ในเดือน มิ.ย. 2021 ผู้พักอาศัยบางส่วนในเมืองนี้บอกว่า เดล ริโอน่าเบื่อ แต่ในเดือนนั้นมีเรื่องน่าตื่นเต้นบางอย่างเกิดขึ้นนั่นคือการถ่ายทำรายการ We’re Here ซึ่งเป็นรายการเรียลิตีแดรกควีนทางช่องเอชบีโอ
หลังจากนั้น 2 เดือนครึ่ง เมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพทหารแห่งนี้ก็กลายเป็นที่จับตามองจากการหลั่งไหลของผู้อพยพจำนวนมากที่ข้ามแม่น้ำริโอแกรนด์ (Rio Grande) และข้ามพรมแดนเข้ามา
จากการประเมินของทางการ ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย. มีคนราว 14,000 คน ตั้งค่ายพักแรมอยู่ที่สะพานระหว่างประเทศที่เชื่อมระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก ส่วนใหญ่เป็นชาวเฮติ หรือคิดเป็น 40% ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองเดล ริโอ ซึ่งมีประชากรประมาณ 35,000 คน ตามการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2020 โดย 85% เป็นคนที่พูดภาษาสเปน

จำนวนชาวเฮติที่ข้ามเข้ามาในเดล ริโอ สูงสุดในช่วงระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีคนมากกว่า 12,000 คนเดินทางมาถึง
ศูนย์แนวร่วมมนุษยธรรมพรมแดนวาล แวร์เด เป็นศูนย์พักพิงผู้อพยพ ซึ่งเคยเปิดรับผู้อพยพ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และรองรับผู้อพยพกว่า 100 คนต่อเดือน ระหว่างเดือน ม.ค. ถึง มี.ค. แต่ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้รองรับผู้อพยพมากกว่า 300 คนต่อวัน
เวลา 09.30 น. มีรถอีก 3 คัน เดินทางมาถึง และมีรถบัส 1 คัน ที่ขนส่งผู้อพยพมากกว่า 50 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเฮติ เดินทางมาด้วย
เมื่อมาถึง พวกเขาสามารถติดต่อญาติได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาเหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ พวกเขาได้อาบน้ำและรับประทานอาหาร
เรื่องที่น่าตื่นเต้นในวันนี้คือ การที่พวกเขาได้กลับมาสวมรองเท้าของตัวเองเป็นครั้งแรกในรอบหลายวัน

เมื่อตำรวจตระเวนชายแดนจับกุมผู้อพยพ พวกเขาจะถูกสั่งให้ทำ 3 อย่างคือ ถอดเสื้อผ้า ถอดเชือกผูกรองเท้า และนำโทรศัพท์มือถือออกมาให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้
“คุณสามารถเก็บได้เพียงเอกสารของคุณและที่อยู่ของคนในครอบครัวไว้กับตัวเองเท่านั้น” หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตะโกนบอกเป็นภาษาสเปนเมื่อมีคนกลุ่มใหม่เดินทางมาถึง
หลังจากถูกควบคุมตัวไว้นานหลายวัน และเจ้าหน้าที่ได้สัมภาษณ์พวกเขา จากนั้นผู้อพยพที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสหรัฐฯ สามารถเริ่มสมัครของลี้ภัยได้
จากนั้น จะมีการส่งตัวพวกเขาไปยังศูนย์พักพิงวาล แวร์เด และพวกเขาจะได้เริ่มต้นดำเนินการขั้นตอนแรกของการใช้ชีวิตใหม่
สถานการณ์ของพวกเขาช่างแตกต่างจากผู้ที่ถูกส่งตัวกลับไป และผู้ที่ถูกจับกุมตัวจากตำรวจตระเวนชายแดนบนหลังม้า
- เม็กซิโก-สหรัฐฯ : ช่วยผมได้ไหม? เด็กชายวัย 10 ขวบผู้ถูกทิ้งที่ชายแดน
- ผู้อพยพ : ชะตากรรมเศร้าของเด็กชายวัย 2 ขวบที่แสวงหาชีวิตใหม่ในอเมริกา
- ตาลีบัน : คนอัฟกานิสถานหนีไปอยู่ที่ไหนบ้างหลังกลุ่มติดอาวุธเข้ายึดครองประเทศ
หลังจากปรากฏภาพที่น่าตกใจของตำรวจตระเวนชายแดนขี่ม้าจับกุมตัวผู้อพยพเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ทูตพิเศษประจำเฮติของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลาออก พร้อมกับวิจารณ์เรื่องนี้ว่าเป็นการปฏิบัติ “อย่างไร้มนุษยธรรม”
หลังจากเดินทางมาถึงศูนย์พักพิง ผู้อพยพจำเป็นต้องติดต่อญาติพี่น้องในสหรัฐฯ และขอให้ญาติซื้อตั๋วต่าง ๆ ที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ในการเดินทางไปหาญาติ
ปกติแล้ว พวกเขาจะต้องเดินทางโดยรถบัสไปยังซานอันโตนิโอ ซึ่งยังอยู่ในรัฐเทกซัส จากนั้นจะเดินทางต่อโดยเครื่องบินไปยังที่อื่น ชาวเฮติส่วนใหญ่เดินทางไปยังรัฐฟลอริดา และมีบางส่วนเดินทางไปยังรัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองฮิวสตัน และรัฐนิวเจอร์ซีย์
อาสาสมัครที่ศูนย์พักพิงแห่งนี้ให้การต้อนรับและช่วยเหลือผู้อพยพแทบไม่ได้หยุด ผู้ที่เดินทางมาถึงใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงที่นั่น และไม่ได้รับอนุญาตให้ค้างคืน

ชีวิตใต้สะพาน
ฟาฟาน เบียน เอเม อายุ 24 ปี เป็นผู้หญิงผิวดำรูปร่างผอมสูงจากเฮติ เธอสวมเสื้อสีขาวเผยให้เห็นท้องที่ยื่นออกมา บ่งบอกว่าเธอกำลังตั้งครรภ์
ฟาฟานปิดบังใบหน้าของเธอเมื่อมีคนต้องการจะถ่ายรูป เธอพูดกลั้วหัวเราะว่าไม่อยากให้คนเห็นภาพตอนที่เธอไม่ได้หวีผม
ฟาฟานเดินจากชิลีมายังพรมแดนสหรัฐฯ โดยใช้เวลานานเกือบ 2 เดือน
เมื่อเธอมาถึงที่ริโอแกรนด์ พรมแดนระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ แทนที่จะรู้สึกดีใจ เธอถึงได้รู้ว่ามีผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันกับเธอหลายพันคน ติดอยู่ริมแม่น้ำสายนี้ และรั้วที่กั้นทางเข้าไปยังสหรัฐฯ
เธอมาถึงพรมแดนเมื่อวันที่ 16 ก.ย. และยังอยู่ใต้สะพานระหว่างประเทศอากูญา-เดล ริโอ เทกซัส นาน 5 วัน เธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 22 ก.ย. และเจ้าหน้าที่พรมแดนของสหรัฐฯ ขับรถพาเธอมาส่งที่ศูนย์พักพิง
“การใช้ชีวิตใต้สะพานแห่งนั้นมันลำบากและไม่สบายเลย โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงท้อง มันยากมากจริง ๆ” ฟาฟานกล่าวกับบีบีซี

เช่นเดียวกับชาวเฮติส่วนใหญ่ที่เดินทางมาถึงสหรัฐฯ เธอได้ใช้ชีวิตมาแล้วมากกว่า 1 ประเทศ ที่หมายแรกของเธอคือชิลี ในปี 2019 เธอตัดสินใจไปที่นั่นเพื่อพบกับแม่ แต่หลังจากผ่านไป 2 ปี เธอก็ตัดสินใจเดินทางขึ้นเหนือ
“ฉันออกเดินทางไปชิลี เพราะฉันไม่ได้พบแม่มานานหลายปีแล้ว แต่ในความเป็นจริง เมื่อคุณออกจากประเทศของคุณไปอีกประเทศหนึ่ง คุณกำลังมองหาชีวิตที่ดีกว่า” เธอกล่าว
“แต่เมื่อคุณมาถึงในประเทศนี้ และคุณไม่พบในสิ่งที่คุณกำลังตามหา คุณก็ต้องมองหาต่อไป จนกว่าคุณจะพบมัน” ฟาฟานเล่าขณะที่กำลังรอรถบัสไปยังซานอันโตนิโอ
จากที่นั่น เธอวางแผนว่าจะไปหาญาติที่แคลิฟอร์เนีย

ข้ามทวีป
การเดินทางของผู้อพยพชาวเฮติ อาจเป็นระยะทางที่ไกลมาก คนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาถึงที่นี่เริ่มการเดินทางจากชิลี ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 3 เดือนในการเดินทางมาถึงสหรัฐฯ
จากชิลี พวกเขาต้องผ่านเปรู เอกวาดอร์ และโคลอมเบีย ต้องข้ามช่องโหว่ดาริเอน (Darien Gap) ภูมิภาคที่เป็นป่าที่อันตรายกั้นระหว่างโคลอมเบียและปานามา ก่อนที่จะมาถึงอเมริกากลาง
“ส่วนที่ยากที่สุดคือปานามา” ฟรานต์ซ ไชเบอร์ ลูเบอริสส์ อายุ 28 ปี กล่าว เมื่อถูกถามถึงเส้นทางที่เขาต้องใช้เวลานานเกือบ 1 เดือนครึ่งกว่าจะเดินทางผ่านมาได้สำเร็จ
“ในปานามา เจ้าหน้าที่ไร้หัวจิตหัวใจมาก แก๊งอาชญากรรมจะทำร้ายเรา และเจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไรเลย ผมเห็นกับตาตัวเองว่า พวกเขาข่มขืนผู้หญิง เด็กหญิง และผู้ชายอย่างไร พวกเขาถึงขนาดตรวจรูทวารของผมเพื่อหาเงิน มีคนบางส่วนที่เลวร้ายมาก ๆ อยู่ที่นั่น” ลูเบอริสส์เล่า
“ผมออกจากชิลี ผ่านเปรู เอกวาดอร์ โคลอมเบีย และปานามา… หลายประเทศมาก”

ลูเบอริสส์ยังต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากใต้สะพานซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวิกฤตผู้อพยพในปัจจุบันไปแล้วด้วยเช่นกัน
เขาไม่รู้ว่า เขาจะเดินทางเข้าไปในสหรัฐฯ ได้หรือไม่ หรือว่า เขาจะถูกส่งตัวกลับประเทศ ในช่วงเวลา 3 วันที่เขาอยู่ที่นั่น เขาและภรรยาที่ตั้งท้อง 8 เดือนได้กินแค่ขนมปัง
“ภรรยาของผมตั้งท้องและเราไม่มีอะไรกินเลย ผมคิดว่าผมคงถูกส่งตัวกลับ ใต้สะพานนั้น ทุกอย่างสกปรก ทุกอย่างแย่มาก แต่ตอนนี้ผมรู้สึกดีขึ้นแล้ว รู้สึกดีขึ้นมาก” เขากล่าวพร้อมกับรอยยิ้มบนใบหน้า สองสามีภรรยาคู่นี้กำลังมุ่งหน้าสู่เวสต์ปาล์มบีชในรัฐฟลอริดา
ไวด์ไลน์ ซังต์ เฟลอร์ อายุ 35 ปี หัวเราะเมื่อเธอพยายามพูดภาษาสเปน ซึ่งก็สามารถพูดต่อกันได้ 2-3 คำ
ไวด์ไลน์สวมหมวกแก็ปของทีมคลับอเมริกา (Club America) ทีมฟุตบอลของเม็กซิโก และเสื้อแขนยาว เธอตั้งท้อง 7 เดือน และออกเดินทางจากชิลีไปยังสหรัฐฯ พร้อมกับสามีเมื่อ 2 เดือนก่อน

เธอจำได้ถึงช่วงเวลาที่เธอต้องอยู่ใต้สะพานบริเวณพรนแดน “หนึ่งวัน ฉันกินแค่ซุป อีกวันหนึ่ง ฉันไม่ได้กินอะไรเลย อีกวันหนึ่ง ฉันได้แต่เดิน ลำบากมาก” เธอเล่า
มีเพียงแค่ไวด์ไลน์และสามีของเธอเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสหรัฐฯ ส่วนสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คนที่เดินทางมาพร้อมกับพวกเขา ถูกส่งตัวกลับเฮติ
ไวด์ไลน์ไม่รู้ว่าเธอจะได้ลูกชายหรือลูกสาว แต่หวังว่าทารกจะมีสุขภาพแข็งแรง
“ตอนที่ฉันออกจากชิลี ฉันแข็งแรงดี ตอนนี้หลังจากการเดินทางผ่านพ้นไป ฉันไม่รู้” เธอกล่าว
…………….
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว