สิงคโปร์ผ่านร่างกฎหมายที่ถูกวิจารณ์ว่าออกมาเพื่อจัดการกับการแทรกแซงกิจการภายในประเทศโดยต่างชาติ ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่ากฎหมายจะถูกนำมาใช้เพื่อปิดปากผู้เห็นต่างจากรัฐบาล
กฎหมายนี้จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทางการสั่งให้เว็บไซต์โซเชียลมีเดียและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้งานหรือปิดกั้นเนื้อหาที่พวกเขาเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ได้ ขณะที่ทางการสิงคโปร์ระบุว่า จำเป็นต้องใช้กฎหมายนี้เพื่อจัดการกับ “ภัยคุกคามร้ายแรง”
หลังจากอภิปรายอย่างร้อนแรงในรัฐสภานาน 10 ชั่วโมง ก็มีการผ่านร่างกฎหมายนี้เมื่อวันจันทร์ (4 ต.ค.) โดยรายละเอียดของกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลดำเนินการกับตัวแทนในประเทศที่เชื่อว่า กระทำ “การรณรงค์ด้านข้อมูลข่าวสารอันเป็นปฏิปักษ์” แทนชาวต่างชาติ
นอกจากนี้รัฐบาลยังเป็นฝ่ายที่ชี้ได้ว่าองค์กรหรือบุคคลใดเป็น “บุคคลสำคัญทางการเมือง” หากภารกิจที่ทำชี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในทางการเมือง ซึ่งทำให้ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุนสนับสนุน

อย่างไรก็ดี ขอบเขตที่กว้างขวางของกฎหมาย (ป้องกัน) การแทรกแซงจากต่างชาติ (Foreign Interference (Countermeasures) Act) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Fica ทำให้เกิดความกังวลขึ้น
“การผ่าน FICA ในวันนี้ เป็นหายนะด้านสิทธิมนุษยชนในหมู่นักเคลื่อนไหว สื่ออิสระ และนักการเมืองฝ่ายค้าน เพราะมันให้อำนาจแก่รัฐบาลสิงคโปร์ในการลงโทษผู้ใดก็ได้ตามอำเภอใจ บนพื้นฐานของข้อกล่าวหาที่คลุมเครือว่าเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในแถลงการณ์
“การใช้กฎหมายนี้ รัฐบาลสามารถ…ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นอีกครั้งที่สิงคโปร์ทำให้เห็นถึงความมีศรัทธาในประชาธิปไตยอยู่เพียงน้อยนิด ด้วยการนำมาตรการทางการเมืองที่เหมาะกับระบอบเผด็จการที่ไม่ไว้วางใจประชาชนมาใช้”
- ข่าวปลอม : สิงคโปร์ผ่านกฎหมายเปิดช่องทางให้รัฐส่องแชตส่วนตัว แก้ปัญหาข่าวเท็จระบาด
- โควิด-19 : การระบาดใหญ่ส่งผลอย่างไรต่อสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาค
- โควิด-19 : สิงคโปร์แซงหน้านิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่รับมือโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก
สิงคโปร์ปกป้องความจำเป็นของการมีกฎหมายนี้ว่าเป็นเพราะเป็นประเทศที่ประชากรมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทำให้เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก “การเคลื่อนไหวด้านข่าวสารที่เป็นภัย ทำให้ชาวสิงคโปร์เข้าใจผิดในประเด็นทางการเมืองต่าง ๆ [หรือ] ยุยงให้เกิดการต่อต้านและความแตกแยกจากการยกเรื่องที่เป็นข้อถกเถียง เช่น เชื้อชาติและศาสนาขึ้นมาเป็นประเด็น”
ผู้ละเมิดกฎหมายนี้อาจถูกลงโทษจำคุกหรือปรับเป็นเงินจำนวนมาก
ความมั่นคงของประเทศ
กฎหมาย (ป้องกัน) การแทรกแซงจากต่างชาติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สามารถสั่งการให้สอบสวนในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน “เพื่อเปิดเผยการรณรงค์ด้านข้อมูลข่าวสารอันเป็นปฏิปักษ์” หากสงสัยว่ามีการแทรกแซงจากต่างชาติได้

ตามการรายงานข่าวของสเตรตส์ ไทมส์ ก่อนหน้านี้ ระบุว่า ความผิดจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลในประเทศเผยแพร่ข้อมูลแทนชาวต่างชาติ เพื่อ “ทำให้เกิดอิทธิพลต่อเป้าหมายในการกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ หรืออาจทำให้เป็นผลร้ายต่อผลประโยชน์ของสิงคโปร์ ยุยงให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อทางการลดลง”
แต่แทนที่จะเป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย คณะผู้ไต่สวนอิสระที่มีผู้พิพากษาเป็นประธานจะทำหน้าที่ไต่สวนคำอุทธรณ์คัดค้านการตัดสินใจของรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลระบุว่า การทำเช่นนี้มีความจำเป็นเนื่องจากเรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับข่าวกรองที่มีความละเอียดอ่อนต่อความมั่นคงของประเทศ
“ร่างกฎหมายนี้มีจุดประสงค์ในการแก้ปัญหาภัยคุกคามร้ายแรงที่สร้างความกังวลด้านอธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติ” เค ชานมูกัม รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายและมหาดไทยของสิงคโปร์ กล่าว
“สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการทำให้ชาวสิงคโปร์มีความมั่นใจที่จะตัดสินใจว่า เราจะปกครองประเทศและใช้ชีวิตของเราอย่างไรต่อไป”
สิงคโปร์ได้ดำเนินรอยตามออสเตรเลียและรัสเซีย ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีนี้ได้ผ่านกฎหมายที่สกัดกั้นการแทรกแซงจากต่างชาติเช่นกัน
เมื่อปี 2019 สิงคโปร์ได้ผ่านกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งให้อำนาจท่วมท้นแก่เจ้าหน้าที่ทางการในการควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์และแม้กระทั่งกลุ่มสนทนาส่วนตัว
…………….
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว