ช่วงเวลานี้ของเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลายคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจกำลังวุ่นวายกับการขนของขึ้นที่สูง ขับรถฝ่าน้ำท่วมบนท้องถนน ขนกระสอบทรายมากันน้ำ จัดการกับฝูงแมลงสาบที่หนีน้ำมาอยู่ในห้อง นั่งจ้องระดับน้ำที่เอ่อล้นขึ้นมาจากโถส้วม และเครียดกับการหาที่อยู่ให้พ่อแม่และคนชราในครอบครัว
รถบรรทุก รถลำเลียงกำลังพลของทหาร ถูกนำมาให้บริการขนส่งมวลชนในพื้นที่น้ำท่วมของกรุงเทพฯ เพราะเป็นรถชนิดเดียวที่วิ่งฝ่าระดับน้ำสูงบนท้องถนนได้ โดยมีประชาชนผู้ประสบภัยยืนเบียดกันแน่น พื้นถนนตรงไหนที่น้ำท่วมไม่ถึงก็จะถูกใช้เป็นจุดตั้งเต็นท์พยาบาลและแจกจ่ายสิ่งของให้ผู้ประสบภัย

ปี 2554 เป็นปีที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดตลอดทั้งปี โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ที่ถูกบันทึกไว้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2485
เหตุการณ์น้ำท่วมที่ค่อนข้างรุนแรงในปีนี้ ซึ่งตรงกับช่วงครบรอบ 10 ปี ของมหาอุทกภัยปี 2554 พอดี ทำให้น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง พร้อมกับคำถามยอดฮิต “น้ำท่วมปีนี้จะซ้ำรอยปี 54 หรือไม่” ซึ่งนักวิชาการและหลายหน่วยงานได้ออกมาบอกแล้วว่าอุทกภัยในปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือน 10 ปีที่แล้วเพราะมีหลายปัจจัยที่ต่างกัน
เกิดอะไรขึ้นในอุทกภัยเมื่อปี 2554?
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การมหาชน สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สรุปสาเหตุและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับมหาอุทกภัยปี 2554 ไว้ ดังนี้
3 ปัจจัยเกิดอุทกภัยปี 54
ปัจจัยธรรมชาติ:
ฝน-มาเร็วกว่าปกติและปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่เดือนม.ค.- ต.ค. 2554 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 35% เนื่องมาจากปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ทำให้ฝนมาเร็วกว่าปกติคือตั้งแต่เดือนมี.ค. และมีปริมาณมากกว่าปกติเกือบทุกเดือน
พายุ-ปี 2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก เริ่มจากพายุไหหม่าที่พัดถล่มภาคเหนือและภาคอีสานในเดือน มิ.ย. น้ำยังระบายไม่ทันหมด พายุนกเตนก็ถล่มซ้ำพื้นที่เดิมในช่วงปลายเดือน ก.ค. เดือน ก.ย. ภาคอีสานถูกพายุเนสาดเล่นงานต่อ ปิดท้ายด้วยพายุนาลแก ที่ทำให้มีฝนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกช่วงเดือน ต.ค.
น้ำในเขื่อน-ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การระบายน้ำทำไม่ได้เพราะพื้นที่ท้ายเขื่อนมีน้ำท่วม
น้ำทะเลหนุน-ช่วงปลายเดือน ต.ค. ถึงกลางเดือน พ.ย. เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทยทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า
ปัจจัยทางกายภาพ:
- พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติลดลง
- โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดการน้ำไม่สามารถรับมือกับปริมาณฝนที่มีปริมาณมาก
- ระบบโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมมีประสิทธิภาพลดลงจากการทรุดตัวของพื้นที่ ขาดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป
- ระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครมีปัญหา คือ ศักยภาพการป้อนน้ำเข้าสู่ระบบสูบและอุโมงค์ระบายน้ำไม่สมดุลกับศักยภาพของระบบสูบและอุโมงค์
- สะพานหลายแห่งที่มีตอม่อขนาดใหญ่ขัดขวางทางน้ำ
- สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำขัดขวางการระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว
ปัจจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ:
- พื้นที่หน่วงน้ำในภาคเหนือตอนล่าง เช่น บึงบอระเพ็ด (จ.นครสวรรค์) บึงสีไฟ (จ.พิจิตร) ขาดการดูแลและถูกรุกล้ำ ทำให้ความจุน้ำลดลง
- การผันน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพ
- น้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (จ.ลพบุรี) และไหลมายังเขื่อนพระรามหก (จ.พระนครศรีอยุธยา) ไม่ถูกผันเข้าสู่คลองระพีพัฒน์อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้น้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา
- คลองระพีพัฒน์ไม่สามารถผันน้ำเข้าทุ่งตะวันออกได้
- ปัญหาการบริหารการระบายผ่านพื้นที่และระบบบริหารจัดการน้ำที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ
- ประชาชนและองค์กรส่วนท้องถิ่นสร้างพนังและคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่ของตัวเอง ทำให้การระบายในภาพรวมไม่สามารถทำได้
จากปัจจัยทั้งหมดนี้ ทำให้ระหว่างเดือน ก.ค.-พ.ย. 2554 มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ประชาชนเดือดร้อนกว่า 4 ล้านครัวเรือนหรือราว 13.4 ล้านคน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 11.2 ล้านไร่
ในวิดีโอสารคดีเรื่อง “น(า)ทีวิปโยค : 10 ปีมหาอุทกภัย” ที่พรรคเพื่อไทยผลิตและเผยแพร่ทางช่องยูทิวบ์ของพรรคเมื่อวันที่ 18 ต.ค. นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในช่วงที่เกิดอุทกภัย สรุปเหตุการณ์ไว้ว่า “ปีนั้นมีพายุ 5 ลูก 2 ลูกแรกเกิดในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 3 ลูกหลังเกิดในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 ลูกแรกทำให้น้ำในเขื่อนเต็มไปแล้ว 70-80% …เดือน พ.ย. น้ำทะเลก็ขึ้นสูงสุด…สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.30 เมตร…แทบจะระบายลงไม่ได้เลย”
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่เกิดอุทกภัยพอดีว่า “ณ วันนั้น ยอมรับค่ะว่า มันเยอะจริง ๆ ระดมมาเลย เรียกว่ายิ่งกว่ารับน้องอีก ไม่อยากจะจินตนาการเลยวันนั้น ไม่อยากได้อุทกภัยแบบนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกแล้ว…พอแล้วค่ะ”
และต่อไปนี้ คือ ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่บีบีซีไทยนำมารวบรวมไว้ในโอกาสครบรอบ 10 ปี













น้ำท่วมครั้งนั้นรุนแรงและยาวนานจนไปถึงช่วงเทศกาลลอยกระทงในเดือน พ.ย. 2554 ผู้คนจึงถือโอกาสออกมาลอยกระทงบนท้องถนนที่กลายเป็นคลองชั่วคราว
………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว