รัฐประหารที่เกิดขึ้นในซูดาน คือวิกฤตล่าสุดในช่วงเวลาระส่ำระสายของประเทศ โดยนายพลที่เป็นผู้นำการก่อรัฐประหารระบุว่า ทำเพื่อป้องกันสงครามกลางเมือง
นอกจากความตึงเครียดทางการเมือง เศรษฐกิจของซูดานก็ได้เผชิญกับวิกฤตรุนแรง โดยมีเงินเฟ้อสูงและขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิงและยารักษาโรค
รัฐประหารครั้งนี้สร้างความตะหนกให้มหาอำนาจหลายชาติที่หันกลับมาสานสัมพันธ์กับซูดาน หลังจากไม่ยุ่งเกี่ยวมานานหลายปี
นี่คือ 4 หัวข้อที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับรัฐประหารครั้งนี้

เบื้องหลังของการรัฐประหารครั้งนี้
ผู้นำทหารและผู้นำพลเรือนครองอำนาจร่วมกันนับตั้งแต่ ส.ค. 2019 หลังจากประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ ที่ปกครองประเทศแต่เพียงผู้เดียวมายาวนานถูกโค่นล้ม
กองทัพได้โค่นล้มบาเชียร์ แต่ผู้คนได้ออกมาประท้วงจำนวนมากบนท้องถนนเรียกร้องการปกครองของพลเรือน ทำให้กองทัพจำเป็นต้องเจรจาแผนการที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย
ประเทศซูดานในขณะนี้ควรจะต้องอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน โดยผู้นำพลเรือนและผู้นำทหารที่ปกครองประเทศร่วมกันในคณะกรรมร่วมที่รู้จักกันในนามว่า สภาอธิปไตย (Sovereign Council)
แต่ทั้งสองกลุ่มต่างขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย
พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้นำรัฐประหารซูดาน กล่าวว่า กองทัพได้ยึดอำนาจเมื่อวันจันทร์ (25 ต.ค.) เพื่อป้องกัน “สงครามกลางเมือง”
ขณะที่การประท้วงยังคงดำเนินต่อเนื่องในกรุงคาร์ทูม โดยมีการปิดร้านค้า ถนน และสะพานต่าง ๆ สายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้รับผลกระทบด้วย
มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 10 คน นับตั้งแต่เกิดความไม่สงบขึ้น
“อันตรายที่เราพบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจนำพาประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองได้” พล.อ. บูร์ฮาน กล่าวในการแถลงข่าวช่วงวันอังคาร (26 ต.ค.)
เขากล่าวเพิ่มเติม นายกรัฐนตรีซูดานที่ถูกปลดจะกลับไปยังบ้านของเขาเมื่อวิกฤตและความเสี่ยงต่าง ๆ ผ่านพ้นไปแล้ว

พล.อ. บูร์ฮาน กล่าวว่า เขาได้ยุบการปกครองของฝ่ายพลเรือนแล้ว และได้จับกุมตัวผู้นำทางการเมืองและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้ปลุกเร้าให้ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านกองกำลังความมั่นคง
โมฮาเหม็ด ออสมาน ผู้สื่อข่าวบีบีซีในกรุงคาร์ทูม กล่าวว่า การที่ พล.อ.บูร์ฮาน ได้เตรียมบัญชีรายชื่อรัฐมนตรีรวมถึงรับปากว่าจะประกาศแต่งตั้งหัวหน้าผู้พิพากษาใหม่ภายใน 2 วัน เป็นการบ่งชี้ว่า มีการวางแผนไว้ก่อนที่จะก่อรัฐประหาร
อะไรอยู่เบื้องหลังความขัดแย้ง
ผู้นำกองทัพหลายคนในรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่านได้เรียกร้องการปฏิรูปหลายอย่างจากผู้นำพลเรือน และเรียกร้องให้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งทางผู้นำพลเรือนไม่สนใจข้อเรียกร้องนี้เพราะเห็นว่า เป็นการรวบอำนาจ
มีการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเกิดขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2019 ครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว
นายกรัฐมนตรีฮัมดุก ผู้นำฝ่ายพลเรือน กล่าวหาว่า เป็นฝีมือของผู้ที่ภักดีต่อนายบาเชียร์ ซึ่งหลายคนแฝงตัวอยู่ในกองทัพ หน่วยงานด้านความมั่นคง และสถาบันต่าง ๆ ของรัฐ
- รัฐประหารซูดาน : ผู้นำกองทัพซูดาน ประกาศลงจากอำนาจหลังรัฐประหารได้ 1 วัน
- รัฐประหาร : กองทัพซูดานยึดอำนาจ ยุติการปกครอง 3 ทศวรรษ ของประธานาธิบดี โอมาร์ อัล-บาเชียร์
- บีบีซีแผนกภาษาอารบิกเปิดโปงการทารุณเด็กในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในซูดาน
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ ผู้ประท้วงที่สนับสนุนกองทัพได้ออกมาเคลื่อนไหวในกรุงคาร์ทูม ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประท้วงสนับสนุนนายกรัฐมนตรี
ผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุนทหารกล่าวหารัฐบาลว่า ล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
แนวทางในการปฏิรูปเศรษฐกิจของนายฮัมดุก รวมถึงการปรับลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิง ทำให้คนบางส่วนไม่พอใจ
ซูดานมีความอ่อนแอทางการเมืองมาเป็นเวลานานแล้ว
แม็กดี อับเดลฮาดี นักวิเคราะห์ในภูมิภาคเขียนว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การแตกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยของพรรคการเมืองและการไร้ความสามารถในการสร้างฉันทามติหลายครั้ง เป็นการเปิดทางให้กองทัพเข้ามาแทรกแซง และก่อรัฐประหารโดยอ้างถึงการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย
ปัจจุบันในซูดาน มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 80 พรรค
ความแตกแยกเช่นเดียวกันนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสภาอธิปไตย ซึ่งมีการแตกแยกภายในทั้งของฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร ทำให้ไม่สามารถหาฉันทามติทางการเมืองร่วมกันได้

ตอนนี้เกิดอะไรขึ้น
ประธานสภาอธิปไตย ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยุบคณะรัฐมนตรีและสภาอธิปไตย
พล.อ.บูร์ฮาน กล่าวด้วยว่า จะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในเดือน ก.ค. 2023
มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีฮัมดุก ถูกควบคุมตัวไว้โดยทหารก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน พร้อมกับรัฐมนตรีอีกหลายคน สำนักงานใหญ่ของวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐถูกยึดโดยทหาร
นอกจากนี้ยังมีการจำกัดอินเทอร์เน็ตด้วย

สหภาพแอฟริกา (African Union) สหประชาชาติ และสหภาพยุโรป รวมถึงสันนิบาตอาหรับ และสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับรัฐประหารเมื่อวันจันทร์
อาจจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
อเล็กซ์ เดอ วาล นักวิเคราะห์ด้านแอฟริกา กล่าวว่า รัฐประหารไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจบแล้ว เพราะพลเรือนในประเทศนี้มีความสามารถมากในการรวมตัวเพื่อแสดงพลัง
เขากล่าวกับบีบีซี นิวส์อาวร์ (BBC Newshour) ว่า เมื่อไรก็ตามที่กองทัพพยายามที่จะล้ำเส้น “ท้องถนนก็จะเต็มไปด้วยผู้คน และดึงให้กองทัพกลับเข้าที่ตั้ง” เขาคาดว่า นั่นคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
เพจเฟซบุ๊กของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ประชาชนออกมาสนับสนุนรัฐบาล
ภาพและรายงานจากกรุงคาร์ทูมเผยให้เห็น ผู้ประท้วงจำนวนมากในเมือง
นอกจากนี้ยังมีการส่งทหารเข้าไปสกัดการเคลื่อนไหวด้วย


ในเดือน มิ.ย. 2019 ก่อนที่จะมีการเห็นชอบในเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ทหารได้ยิงใส่ผู้ประท้วงในกรุงคาร์ทูม ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 87 คน
ผู้คนจะนึกถึงความทรงจำของการสังหารหมู่ครั้งนั้น ขณะที่ทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญหน้ากัน
การยึดอำนาจครั้งนี้ทำให้ทั่วโลกออกประณาม สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, สหประชาชาติ และสหภาพแอฟริกา ซึ่งซูดานเป็นชาติสมาชิก ต่างเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้นำทางการเมืองที่ถูกจับกุมตัวไว้ทุกคนในทันที รวมถึงสมาชิกในคณะรัฐมนตรีของนายฮัมดุกด้วย
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า ซูดานอยู่ในกลุ่มประเทศในแอฟริกาและเอเชียที่เผชิญ “การระบาดของรัฐประหาร” เขาเรียกร้องให้ “ชาติมหาอำนาจขนาดใหญ่” ของโลกร่วมมือกันในการต่อต้าน เพื่อให้เกิด “การยับยั้งอย่างได้ผล” ผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ขณะที่ สหรัฐฯ ได้ระงับเงินช่วยเหลือที่จะส่งให้แก่ซูดาน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23,400 ล้านบาท) แล้ว และสหภาพยุโรปได้ขู่ที่จะทำเช่นเดียวกัน ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่างเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนโดยไม่มีเงื่อนไข
ตั้งแต่วันจันทร์ มีรายงานว่า ทหารได้บุกไปตามบ้านเรือนของประชาชนในกรุงคาร์ทูมเพื่อจับกุมผู้จัดการประท้วง

Supplied
อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศขัดข้อง
ผู้สื่อข่าวของบีบีซี รายงานว่า มีประชาชนอีกหลายพันคนเข้าร่วมการประท้วงในกรุงคาร์ทูม ส่วนใหญ่อยู่ในย่านที่พักอาศัยใกล้กับศูนย์กลางเมือง
สนามบินในกรุงคาร์ทูมถูกปิดและมีการยกเลิกเที่ยวบินทุกเที่ยวไปจนถึงวันเสาร์ (30 ต.ค.) นี้
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศได้เข้าร่วมการหยุดงานประท้วง และแพทย์ทั่วประเทศซูดานปฏิเสธที่จะทำงานในโรงพยาบาลที่ทหารดูแล ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน
…………….
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว