ประธานาธิบดีซีริล รามาโพซา ของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ตรวจพบโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน เป็นครั้งแรก ออกมาวิจารณ์ชาติที่จำกัดการไปมาหาสู่กับประเทศเขา และตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของข้อห้ามนี้
นายรามาโพซา กล่าวว่า “ข้อห้ามการเดินทางไม่ได้มาจากคำแนะนำตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้”
แล้วหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไร
- WHO เรียก โควิดกลายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ยกเป็นสายพันธุ์ “น่ากังวล”
- วัคซีนจะยังใช้ได้ผลอยู่ไหมกับเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน
- อนามัยโลก “กังวลอย่างยิ่ง” หลังยอดโควิดในยุโรปพุ่งไม่หยุด
- บางคนอาจมียีนอันตราย ทำให้เสี่ยงตายจากโควิดเพิ่มเป็นสองเท่า

WHO มีท่าทีอย่างไร
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ระบุเมื่อ ก.พ.2020 ว่า ข้อห้ามการเดินทาง “มักใช้ไม่ได้ผล” ในการป้องกันเชื้อแพร่ระบาดเข้าไปในประเทศ และอาจส่งผลเสียรุนแรงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ในตอนนั้น WHO ระบุว่า “มาตรการที่จะเป็นการแทรกแซงอย่างยิ่งยวดต่อการจราจรระหว่างประเทศอาจมีความชอบธรรมในช่วงแรกของการเกิดโรคระบาด และอาจช่วยถ่วงเวลาให้ประเทศต่าง ๆ”

คำแนะนำดังกล่าวถูกวิจารณ์จากนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ที่กล่าวโทษว่า WHO ไม่สนับสนุนการตัดสินใจของเขาในการหยุดยั้งเที่ยวบินจากจีนที่มุ่งหน้าสู่อเมริกา และยุโรป
คำแนะนำนี้ยังถูกเพิกเฉยจากหลายชาติในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ และไต้หวัน ที่สั่งห้ามผู้เดินทางจากจีนเข้าประเทศตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ก่อนที่จะมีหลายชาติทั่วโลกใช้มาตรการคล้ายกันในเวลาต่อมา
นับตั้งแต่นั้น WHO ได้ปรับปรุงข้อแนะนำของตน และปัจจุบันได้แนะนำการบังคับใช้ข้อห้ามการเดินทางโดยประเมินจากฐานความเสี่ยง (risk-based approach)
WHO ระบุว่า การใช้ข้อห้ามในการเดินทางควรต้องมีขึ้นโดยพิจารณาจากระดับภูมิคุ้มกันของประชากร ไม่ว่าจะมาจากการฉีดวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหลังการติดเชื้อ รวมทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ และประสิทธิภาพของมาตรการต่าง ๆ เช่น การตรวจคัดกรองเชื้อ และการกักโรค
อย่างไรก็ตาม WHO ชี้ว่า “ประเทศที่…มีความกังวลว่าเชื้อกลายพันธุ์อาจเป็นภัยต่อผู้อื่น…ควรใช้วิธีการป้องกันไว้ก่อน และใช้ข้อจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดขึ้น และมีกรอบเวลาที่จำกัด”
WHO ระบุว่า มาตรการเหล่านี้ควรใช้อย่าง “เหมาะสม”

หลักฐานสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์
ผลการศึกษาหลังการระบาดใหญ่ในช่วงต้นเมื่อปี 2020 พบหลักฐานบ่งชี้ว่า การใช้ข้อห้ามการเดินทางอาจใช้ได้ผลในช่วงแรกในการชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อเดือน ธ.ค.ปี 2020 ระบุว่า วิธีการนี้ใช้ได้ผลในช่วงแรก ๆ แต่จะเริ่มมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อมีการใช้ในเวลาต่อมา
การศึกษาของศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์เบอร์ลิน (WZB Berlin Social Science Center) ในเยอรมนี เมื่อ ต.ค. 2020 ได้ศึกษาการห้ามเดินทางและอัตราการเสียชีวิตของคนในกว่า 180 ประเทศเมื่อปี 2020 และได้ข้อสรุปดังนี้
- มาตรการนี้จะได้ผลมากที่สุดเมื่อประเทศต่าง ๆ ใช้ข้อห้ามการเดินทางก่อนจะพบผู้เสียชีวิตจากโควิดเกิน 10 คน
- การใช้ข้อบังคับให้นักเดินทางกักโรคมีประสิทธิภาพมากกว่าการห้ามเดินทางเข้าประเทศ (ซึ่งบางกรณีมีข้อยกเว้นให้พลเมืองของตนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ)
- การมุ่งเป้าจำกัดการเดินทางของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ ได้ผลมากกว่าการใช้ข้อห้ามต่อนักเดินทางต่างชาติทั้งหมด
งานวิจัยที่ศึกษาการแพร่ระบาดของโควิดในสหราชอาณาจักรช่วงแรก ๆ ซึ่งยังมีข้อจำกัดการเดินทางไม่มากนั้น พบว่า มีการนำเชื้อโรคโควิดเข้าสู่ประเทศกว่า 1,000 ครั้ง ส่วนใหญ่มาจากนักเดินทางจากประเทศอื่นในยุโรป
ปัจจุบันมีการพบเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน อย่างน้อยในกว่า 10 ประเทศ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ดร.ดีปติ กุรดาซานี นักระบาดวิทยาจากควีนแมรี มหาวิทยาลัยลอนดอน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า แม้ข้อห้ามการเดินทางจะช่วยชะลอการระบาดของโอไมครอน แต่ตอนนี้ก็มีความชัดเจนว่า เชื้อได้ระบาดไปในหลายพื้นที่ทั่วโลกแล้ว”
“แทนที่จะห้ามการเดินทาง คุณควรมีนโยบายการตรวจคัดกรอง และการกักโรคที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยชะลอการระบาดได้” เธอกล่าว

ปัจจัยสำคัญที่แตกต่างจากช่วงแรกของการระบาดใหญ่ คือ ตอนนี้วัคซีนได้ถูกแจกจ่ายไปทั่วโลกแล้ว
อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าถึงวัคซีนของประชากรแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพเพียงใดในการรับมือกับเชื้อโอมิครอน
ประเทศที่พึ่งพิงรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีหากจะจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ
ชาติไหนมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดที่สุด
ออสเตรเลียเปิดพรมแดนอีกครั้งในเดือน พ.ย. หลังจากปิดประเทศมา 18 เดือน ปล่อยให้พลเมืองที่ต้องการเข้า-ออกประเทศได้โดยต้องขออนุญาตพิเศษ
ตอนนี้แผนการที่จะอนุญาตให้นักเรียนต่างชาติและแรงงานฝีมือจากต่างประเทศเข้าประเทศได้ ก็ต้องพับไว้ก่อน

นิวซีแลนด์ ยังคงปิดพรมแดนต่อไปนับแต่ปีที่แล้ว แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศว่าจะเปิดให้พลเมืองของตัวเอง และชาวออสเตรเลียที่มีวีซ่าเข้าประเทศได้ตั้งแต่ต้นปีหน้า และผู้มาเยือนที่ฉีดวัคซีนครบเข้าประเทศได้ในเดือน เม.ย.
เวียดนามก็นับเป็นชาติที่จำกัดการเดินทางมานานที่สุดประเทศหนึ่ง แล้วเพิ่งมาเปิดพรมแดนเมื่อ พ.ย.
ก่อนหน้านี้ประเทศเหล่านี้ล้วนมีอัตราการติดเชื้อต่ำ จนกระทั่งเชื้อเดลตาเริ่มแพร่ระบาดในเดือน ก.ค. ปีนี้
การล็อกดาวน์ การตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง และมาตรการป้องกัน เช่น การใส่หน้ากากอนามัยล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าการจำกัดการเดินทางในการควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงแคบในช่วงแรกของการระบาดใหญ่
+++++
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว