อึ๋ม(ปลอม)อ่วม!! ฮือฮาว่อนโซเชียลฯ สำหรับภาพหน่มน๊มเหี่ยวห้อย ผิวหนังยับแตกลาย ราวนมคุณยายอายุ 80 ปี พร้อมโปรยนำ “เปิดภาพอุทาหรณ์!! สาวไปถอดหน้าอก
แต่นมกลับไม่เป็นเหมือนเดิม…” แม้แต่สื่อออนไลน์หลายสำนักยังนำไปกระหน่ำแชร์ต่อ

อึ๋ม(ปลอม)อ่วม!! – จากกรณีสะพัดในโซเชียลมีสาวเสริมอึ๋มขนาดมหึมา 500 CC. ก่อนไปถอดออก แต่ผลที่ไม่คาดคิดตามมา เมื่อเต้าที่เคยเต่งตึงเหี่ยวลงในฉับพลัน พร้อมกับนำประสบการณ์ตรงมาโพสต์เป็นอทาหรณ์สอนใจผู้หญิงที่ชอบอัพไซซ์ใหญ่เกินตัว นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ ทั้งอาการปวดหลัง พังผืดเกาะ และผิวแตกลาย

เชื่อว่าสาวเราเกิดคำถามตรึม! จริงรึถอดซิลิโคนแล้วนมต้องเหี่ยว ทำไงให้หน้าอกหน้าใจที่ย้วยยานกลับมากระชับเด้งดึ๋งดั่งเดิม แล้วทำไมอัพเต้าแล้วผลข้างเคียงเยอะจัง มีวิธีป้องกันมั้ย ฯลฯ ข่าวสด บิวตี้ จึงไปถามไถ่หมอทำนมตัวท้อปของไทย “ศัลยแพทย์ พีระ เทียนไพฑูรย์” ท่านเป็นอาจารย์ศัลยแพทย์ตกแต่งเต้านม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านประสบการณ์มายาวนานมากกว่าสิบปี เป็นวิทยากรบรรยายด้านศัลยกรรมทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นแพทย์ประจำ PSC Clinic ที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งเอง

ศัลยแพทย์ พีระ เทียนไพฑูรย์

4 ปัจจัย เสี่ยงนมเหี่ยว

“มันเป็นความเสี่ยง ขึ้นกับหลายปัจจัย” อาจารย์หมอพีระ อธิบายถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เต้าตูมห้อยโตงเตงหลังถอดซิลิโคน

ปัจจัยแรก ขนาดของซิลิโคนที่มากเกินไป หน้าอกเป็นเหมือนถุงที่ทำจากเนื้อเยื่อธรรมชาติ และเราเอาของที่เป็นวัตถุที่ใหญ่ใส่ลงไป มันย่อมยืด จริงๆ แล้ว สามารถหดกลับได้ แต่ยิ่งใส่ของใหญ่เท่าไร อัตราการเร่งตัวความยืด มันยิ่งสูง พอมันยืดถึงจุดหนึ่ง มันก็จะไม่คืนตัว

ปัจจัยที่สอง คุณภาพของเนื้อต้นนมกับผิว ปัจจัยนี้สำคัญมาก เพราะต้องพิจารณาคุณภาพเนื้อเต้านมของคนไข้ให้ดี ยกตัวอย่าง คนอายุน้อย ผิวหนังยังกระชับตึง โอกาสหดกลับก็เยอะ แต่ถ้าเป็นผิวของคนอายุมาก ก็จะไม่ค่อยยืดหยุ่น ตามเงื่อนไขอายุ และคอลลาเจนที่ลดน้อยลง”

อาจารย์หมอวิเคราะห์เจาะเคสที่เป็นข่าวกระฉ่อนโลกไซเบอร์

“เห็นชัดว่าผิวแตกลาย แสดงว่าเคยมีน้อง แล้วยืดขยายแตกมาก พอเป็นอย่างนี้ จึงไม่มีคุณสมบัติในการหดตัวกลับ ความเสี่ยงที่ถอดซิลิโคนแล้วผิวย่นแบบนี้จึงสูงขึ้น

ตัวเนื้อเต้านมก็เหมือนกัน ก่อนมีน้อง ผิวกระชับตึงแบบหนึ่ง แต่พอมีน้อง เต้านมจะขยาย 2-3 เท่า ดังนั้นผิวอาจจะแตก พอให้นมบุตรไปนานๆ เต้านมก็จะฝ่อลงได้ พอฝ่อลงปุ๊บ ก็ทำให้หนังมันเหลือ เกิดรอยย่น หนังบางคนเป็นรอยแตกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รอยย่นไม่สามารถคืนตัวได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น อยู่ในสภาพดี”

ผู้หญิงที่ผ่านการตั้งครรภ์จะมีรูปร่างและผิวหนังเปลี่ยนไป

“การตั้งครรภ์มีบุตรส่งผลกระทบต่อรูปร่างและสภาพผิวหนังของผู้หญิง หรือถ้าไม่มีบุตร แต่ถอดซิลิโคน ก็ต้องดูสภาพหนังของเนื้อเต้านมว่าเป็นอย่างไร มีความยืนหยุ่นคอลลาเจนมั้ย ขนาดไซส์ซิลิโคนที่ใส่ใหญ่เกินไปรึเปล่า

ปัจจัยที่สาม ระยะเวลาในการใส่ซิลิโคน ถ้าใส่ระยะสั้น เทียบกับระยะยาว ถือว่าการใส่ระยะยาวนาน มีความเสี่ยงสูงขึ้น

ปัจจัยสุดท้าย ‘ชั้น’ ในการใส่ซิลิโคน ถ้าใส่ใต้กล้ามเนื้อ มันจะมีคุณสมบัติไม่ยืดมากนัก แต่ถ้าใส่เหนือกล้ามเนื้อ คือ ใส่ชั้นใต้ผิวหนัง ความเสี่ยงก็สูงขึ้น เพราะหนังมันยืดได้มากกว่ากล้ามเนื้อ”

อาจารย์หมอพีระ ฟันธงเคสนี้โดนใส่ซิลิโคนในระดับชั้นใต้ผิวหนัง หรือเหนือกล้ามเนื้อ นั่นเอง

“เคสนี้ชัดเจนเลยว่าเป็นเคสที่ใส่เหนือกล้ามเนื้อ พอให้นมบุตรเสร็จ โดยธรรมชาติเนื้อจะฝ่อลง เหลือแต่หนัง พอเป็นเช่นนี้ ทำให้หนังบางๆ สัมผัสเจอซิลิโคน”

อีกนัยหนึ่งคือ การใส่ซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อเป็นความเสี่ยงทำให้เกิดนมฟีบหลังถอดซิลิโคน

เต้าปลอมแถมโปรฯ พังผืดกับปวดหลัง?!

จากที่เคสดังกล่าว ให้เหตุผลเบื่อนมใหญ่ เพราะนอกจากหาเสื้อผ้าใส่ยากแล้ว เธอยังต้องผจญกับพังผืดและอาการปวดหลัง

“สาเหตุเกิดพังผืดที่แท้จริงคือ การอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์เยอะเกินไป” อาจารย์หมอพีระ แจงเหตุทำไมบางคนมีพังผืดหลังผ่าตัดเสริมหน้าอก

“อย่างเลือดคั่ง การติดเชื้อ หรือการผ่าตัดที่บาดเจ็บมากเกินไป สมัยก่อนจะผ่าตัดตรงรักแร้ ไม่สามารถเข้าไปห้ามเลือดได้ดี และก็ใช้เครื่องมือที่ทำให้บาดเจ็บมากกว่า เป็นเหล็กไปเซาะให้เกิดโพรงโดยตรง เทคนิคเดิมนี้กระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้องรังยาวนานกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดพังผืดสูง

ปัจจุบันใช้เทคนิคส่องกล้องเจาะตรงรักแร้ หรือการผ่าตัดผ่านแผลราวนม ทำให้บาดเจ็บน้อยๆ และห้ามเลือดให้ดี”

อาจารย์หมอพีระบอกว่าถ้าสถานที่ผ่าตัดไม่ได้มาตรฐาน ตัวแพทย์เองไม่ละเอียด ไม่มีการควบคุมการติดเชื้อทั้งในขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด ตัวแพทย์เองไม่ละเอียดใส่ใจอาการบวมช้ำของคนไข้หลังผ่าตัด

“ผมบอกได้เลยว่าถ้าเคสไหนเลือดคั่งแล้วไม่ได้เอาออก แข็งแน่นอน ทำเสร็จมีความบวมผิดปกติ บวมช้ำไปหมดเลย เลือดคั่งข้างใน แล้วหมอไม่ทำอะไร บอกทิ้งไว้เดี๋ยวก็หาย คือ รอยช้ำมันหาย แต่นมข้างนั้นแข็งแน่นอน”

และแพทย์นั้นๆ ต้องไม่ตามใจคนไข้เกิ๊น กรณีคนไข้ต้องการอัพอึ๋มใหญ่เท่าหัวเด็ก

“เรื่องขนาดซิลิโคนขึ้นกับ body ของคนไข้ด้วย ถ้ากระดูกกว้าง การใส่ซิลิโคนต้องใหญ่ตาม ถ่ายรูปมาใส่ชุดจะสวยพอดี แต่ถ้าเอา 500 CC.ไปใส่คนกระดูกเล็ก มันก็จะใหญ่ไป ทีนี้บางสถานที่นิยมเสริมใหญ่มากๆ เพราะตามใจคนไข้ อันนี้ผมไม่แนะนำ เพราะมันจะสร้างปัญหา ใหญ่ไปถูกใจแป๊บเดียว แต่มันจะพังเร็ว และปวดหลังด้วย มีงานวิจัยว่าถ้าใส่เกิน 450 CC. จะเริ่มมีความเสี่ยงปวดหลังในคนที่กระดูกไม่ใหญ่มากนัก

“มีหลายวิธีที่ช่วยประเมินว่าไซส์นี้ถูกใจคนไข้มั้ย เช่น ทำสแกนภาพสามมิติ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสแกนภาพ 3D เครื่องฯจะบอกว่าความกว้างลำตัวเท่าไร ใส่กี่ CC. ลงไป ให้คนไข้เห็นภาพเลยว่าถ้าเค้าใส่ขนาดนี้แล้ว จะเป็นอย่างไร หรือลองใส่เสื้อโดยใส่ซิลิโคนตัวอย่างไว้ ให้คนไข้ดูกับกระจกเต็มตัวเลย ถ่ายรูปเก็บไว้ ให้เพื่อนช่วยดู แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะทำมั้ย”

จงระวังแพทย์ที่ไม่มีเวลาให้คำปรึกษา ประเภทนัดคนไข้มาถึงจับขึ้นเขียงผ่าตัดทันทีเลย

“โดยหลักๆ การทำหน้าอก นอกจากดูความสวยงาม ไซส์พอดี ความเหมาะสมกับตัวคนไข้แล้ว ก็ต้องดูความปลอดภัย” อาจารย์หมอพีระย้ำ

ทางแก้ ใส่บรากระชับ 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม อาจารย์หมอพีระ ได้ชี้ทางแก้ไขสำหรับสาวโชคร้ายรายนี้ด้วยว่า

“เคสนี้มีลักษณะผิวหนังที่มีรอยแตกลายเยอะ เราคงไม่คาดหวังให้หดกลับ จนกระทั่งกระชับได้เต็มที่ เพราะคิดว่าคุณสมบัติของผิวหนังคงไม่สามารถแล้ว”

อย่าไปเจื๋อนเนื้อส่วนเกิน เพราะจะเกิดแผลเป็นเยอะ ซึ่งอาจารย์แพทย์พีระบอกว่าไม่คุ้ม รวมทั้งการออกกำลังกายด้วย

“เนื้อเต้านมเป็นส่วนที่ออกกำลังกายไม่ได้ มันอยู่นอกกล้ามเนื้อ ดังนั้นต้องอาศัยให้มันหดกลับอย่างเดียว”

คำแนะนำของอาจารย์หมอคือ

“ควรใส่บราที่กระชับ พันผ้าก็ได้ เพื่อช่วยผิวหนังที่หดตัวได้ยาก สามารถหดจากแรงกดภายนอก เพื่อเพิ่มความสามารถการหดของผิวหนังได้ดีขึ้น ถ้าลักษณะผิวหนังดี ก็จะหดกลับได้หลายเท่า แต่เคสนี้ผิวหนังแบบนี้ อาจได้แค่ปานกลาง แต่ว่าวันนี้จากภาพข่าว 10 วันเอง ยังตัดสินอะไรไม่ได้ ต้องรอ 6 เดือน ต้องใส่เสื้อรัดๆ หน่อยเป็นเวลา 6 เดือน ค่อยประเมินผล แต่ส่วนใหญ่ได้ผล”

ครึ่งปีต่อจากนี้ ใส่เสื้อในหรือเสื้อเกาะอกที่กระชับเป็นประจำทุกวัน สถานการณ์หน้าอกน่าจะกลับมาดีขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าใครอยากเสริมตูมหรือถอดเต้า ควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้ลึกรอบด้านก่อนตัดสินใจนะคะ

ขอบคุณภาพประกอบจาก PSC Clinic

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน