ผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยได้รับการพัฒนาสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบมาตลอดร้อยปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังหลายสิบปีมานี้ ชูจุดขายมีสารสกัดจากธรรมชาติ ให้รู้สึกแห้งสบายบ้างล่ะ เย็นหอมบ้างล่ะ สายรักษ์โลกก็มา แบบถ้วยซิลิโคนใช้แล้วล้าง แบบผ้าใช้แล้วซัก อะไรต้องพึงระวัง?!

ผ้าอนามัย “ผ้าอนามัย มีมาพร้อมกับมนุษย์ที่มีประจำเดือนครับ”

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ซึ่งเป็นทั้งผู้ดำเนินรายการ “คนสู้โรค” ทางทีวี และนักเขียนบทความมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ และด้านประวัติศาสตร์ นอกจากจะย่อประวัติศาสตร์วิวัฒนาการผลิตภัณฑ์อนามัยส่วนตั๊วส่วนตัวของหญิงเราแล้ว ยังชี้ข้อระวังในการใช้ผ้าอนามัยแบบแห้งแบบเย็น รวมทั้งแบบถ้วยแบบซักได้ด้วย

“มีขายผ้าอนามัยในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่คศ.1896 จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ผลิตผ้าอนามัยออกมาขายสุภาพสตรี จนต่อมามีการพัฒนาออกมาหลายรูปแบบ”

หลังจากจอห์นสันแอนด์จอห์สันผลิตผ้าอนามัยออกขายเป็นรายแรก ชื่อ Lister’s Towels ในปีพ.ศ.2439 ต่อมาพ.ศ.2462 โกเต็ก (Kotex แบรนด์เก่าแก่) ผลิตผ้าอนามัยแบบห่วงจากผ้าฝ้าย ว่ากันว่าได้ไอเดียจากผ้าซับเลือดทหารในสงครามฝรั่งเศส ครั้นพ.ศ. 2472 แบบสอดก็ถูกผลิตขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจจากคนอียิปต์สมัยก่อนที่ใช้กระดาษปาปิรุสที่ทำจากต้นกก มาทำเป็นผ้าอนามัยแบบสอด

เมื่อพ.ศ.2513 โกเต็กคลอดผ้าอนามัยแถบกาว ทำจากเส้นใยสำลีหรือใยฝ้าย ผ่านไป 10 ปีพ.ศ.2523 ฝั่งญี่ปุ่นค้นพบสารดูดซึมน้ำได้ดี ทำให้ผ้าอนามัยบางขึ้น และแล้วผ้าอนามัยพัฒนาการถึงขีดสุดในปีพ.ศ.2533 แผ่นผ้าอนามัยติดปีกแล้วจ้า แถมยังเลิกใช้ผ้าใยเทียม หันมาใช้พลาสติกโพลิเอทิลีน (Polyethylene : PE) หรือพลาสติกโพลีโพรพีลีน (Polypropylene : PP) ทำให้น้ำหนักเบา ทนความเย็น ทนความเป็นกรดด่างได้ดี

ดูดซับแห้งเกิน ระวังช็อคจากผ้าอนามัย

วาร์ปมาปัจจุบันที่ผู้ผลิตผ้าอนามัยพยายามสร้างจุดขายดูดซับระดับซูเปอร์ ให้ความรู้สึกแห้งสบาย

“ถ้าดูดซับมากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ” หมอกฤษดา กล่าวว่าคนละประเด็นกับอาการผื่นคัน ที่เกิดจากการแพ้ผ้าอนามัย ตามที่เรียกว่า ‘ผื่นผ้าอนามัย’

ทำให้เกิดภาวะช็อคจากผ้าอนามัย เรียกว่า Toxic shock syndrome คือ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปในอวัยวะภายในผู้หญิง ซึ่งจะเกิดกับผ้าอนามัย super absorb ดูดซึมได้ดีระดับซูเปอร์เลย

Toxic shock syndrome หรือกลุ่มอาการทอกสิกช็อค เป็นกลุ่มอาการจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงเฉียบพลัน อันเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้อาการของกลุ่มอาการนี้ ไม่ได้เกิดจากตัวแบคทีเรียโดยตรง แต่จะเกิดจากสารชีวพิษ (Toxin) ที่แบคทีเรียสร้างขึ้น

สารชีวพิษนี้จะแพร่กระจายตามกระแสเลือดและก่ออันตรายกับอวัยวะต่างๆ ทุกระบบพร้อมกันทั่วร่างกาย โดยเฉพาะกับอวัยวะสำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น ตับ ปอด ไต และหัวใจ

ถ้าดูดซึมกำลังดีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าระดับซูเปอร์ ต้องระวังอย่าใส่นานเกินไป

หากปล่อยให้มันสัมผัสกับร่างกายเรานานเกินไป เชื้อสเตรปโตคอกคัส (Streptococcus) ซึ่งปกติมีอยู่ตามผิวหนัง บวกกับผ้าอนามัยที่ต้องสัมผัสผิวตลอด กลายเป็นบ้านของเชื้อตัวนี้ เหมือนเลี้ยงโต๊ะจีนเชื้อ

ถ้าติดเชื้อพวกนี้ทำให้ช็อคได้ครับ ความดันโลหิตตก มีไข้สูง

ดังนั้นคนที่ใช้ผ้าอนามัยแล้วแปลกใจ มีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ ความดันโลหิตต่ำ มีอาการมึนหัว หน้ามืด ต้องระวังนะครับ อาจเป็นภาวะช็อคจากผ้าอนามัยได้

หอมเย็นเว่อร์ ระวังจิ๊มิระคายเคือง

อีกจุดขายหนึ่งที่สร้างความฮือฮาในหมู่สาวเรามากคือ ใช้แล้วเย็นไม่อับชื้น น้องจิ๋มทั้งเย็นทั้งหอม กลิ่นกุหลาบบ้าง สารสกัดจากแตงกวาบ้าง ฯลฯ บล็อกเกอร์พากันนำไปวีวิว อาทิ

“ใช้แล้วเหมือนเอา…ไปจ่อช่องฟิตตู้เย็นตลอดเวลาค่ะ…”

“เย็นจริงๆ ค่ะคุณผู้ชม เย็นยาวนาน เย็นได้เย็นดี เย็นแบบราวกับมีคนมาโรยแป้งเย็นไว้ตลอดเวลา ฟิลประมาณนั้นเลย”

“เย็นทนเย็นนานเกือบ 5 ชม…และชอบเวลาก้ม ได้กลิ่นหอมลอยมาจากจิ๊มิตัวเอง”

หมอต้นเข้าใจผู้หญิงที่มักกังวลเรื่องกลิ่นอับ

สังเกตจากคนไข้ที่มาตรวจภายในที่คลินิกหลายคน บอกรำคาญเรื่องกลิ่นอับๆ ทีนี้ทำให้มีวิวัฒนาการของผ้าอนามัยกลบกลิ่น แต่อะไรก็ตามที่ใส่สารเคมีเข้ามา การบูร เมนทอล เปปเปอร์มินต์ เพื่อเป็นน้ำหอมกลบกลิ่น เพื่อเย็น บางทีสารนี้ใช้กับคนนี้ได้ดี กลบกลิ่นได้ดี ทำให้น้องเย็น ทำให้คนนั้นมีความสุข แต่กับอีกคนอาจทำให้น้องคันระคายเคือง

แต่ละคนอ่อนไหวกับสารเคมีไม่เหมือนกัน พูดง่ายๆ ถ้าอะไรเป็นสารประดิษฐ์ หรือสารเคมีเข้ามา มันอาจจะไม่เหมาะกับตัวเราเสมอไป มันอาจต้องดูเป็นอย่างๆ ไป

สาวบางคนอาจแพ้สารประดิษฐ์ที่ให้ความหอมเย็น และเกิดอาการแพ้คันระคายเคือง หมอกฤษดาแนะให้หยุดใช้ก่อน หากสาวใดมีอาการตกขาวร่วมด้วย ก็ควรรีบหาแพทย์

บางคนคิดว่ามีอาการจากผ้าอนามัย แพ้ผ้าอนามัยหรือเปล่า มีตกขาวด้วย จริงๆ แล้ว อาจไม่ใช่จากผ้าอนามัย อาจตกขาวจากเชื้อแบคทีเรีย หรือจากในช่องคลอดเอง หรือจากเชื้อรา

ที่เจอบ่อยในช่องคลอดคือ เชื้อแคนดิดา (Candida yeast infection) หรือเรียกันว่า ‘เชื้อยีสต์’ ซึ่งจะทำให้ตกขาวเป็นก้อน มีกลิ่นอับๆ ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเพราะใส่ผ้าอนามัยหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่

ภายในของผู้หญิงค่อนข้างชื้น อับ อุ่น ที่ไหนมีชื้นที่นั่นอาจมีเชื้อได้ ดังนั้นการมาตรวจ จะได้รู้ว่าผู้ร้ายตัวจริงคือใคร เกิดจากเชื้อหรือเกิดจากผ้าอนามัย

อย่างไรก็ตาม สาวที่มักตกขาวแยอะ หมอต้นแนะว่าควรเลือกผ้าอนามัยที่ใช้วัสดุระบายอากาศได้ดี

ถ้าเราเป็นคนตกขาวเยอะ อาจจะดูว่าผ้าอนามัยอันไหนใช้วัสดุที่โปร่งโล่ง ไม่อับ อย่างที่บอกครับที่ไหนมีอับ มันจะมีเชื้อให้อ่วมตรงนั้น

อนามัยรักษ์โลก ล้างได้ซักได้ ต้องสะอาดจริง

เทรนด์รักษ์โลกกำลังมา ผ้าอนามัยแบบซักได้และถ้วยอนามัยแบบล้างได้ ตอบโจทย์ลดขยะ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และประหยัด

ผ้าอนามัยแบบผ้าที่สามารถนำมาซักและใช้ได้ ข้อดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ว่าต้องดูแลให้ถี่ถ้วน ในการซักต้องมีส่วนของเลือดส่วนของการปนเปื้อนออกมา เพราะฉะนั้นต้องดูแลเรื่องความสะอาดให้ดี

ปกติผ้าที่นำมาใช้เป็นวัสดุทำผ้าอนามัย มีคุณสมบัติในการดูดซับของเหลวได้คล่อง และมีความโปร่ง ไม่ก่อให้เกิดความอับชื้น และการะคายเคือง ทว่าสิ่งสำคัญคือ ต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าตามปริมาณมาน้อยมามาก และขยันดูแลเอาใจใส่ในการซัก

ตอนเปลี่ยนผ้าอนามัยระหว่างวัน นำผ้าที่เปื้อนประจำเดือนเก็บในถุงซิปล็อค แล้วฉีดน้ำ (มีสเปร์ยขวดเล็กใส่น้ำเปล่าไว้) ให้ชุ่ม เพื่อซักคราบออกง่ายเมื่อกลับถึงที่พัก

ในกระบวนการซัก ต้องชำระล้างเบื้องต้นด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง (ห้ามใช้น้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะคราบจะติดฝั่งแน่น) จากนั้นนำไปแช่น้ำผสมเบกกิงโซดาทิ้งไว้จนกว่าช่วงวันนั้นของเดือนจะสิ้นสุด ระหว่างนั้นก็คอยเปลี่ยนน้ำที่แช่ทุกวัน เมื่อนำมาซักจะพบว่าผ้าสะอาดได้ง่าย

“มีมาพักหนึ่งแล้วครับ” หมอกฤษดากำลังพูดถึงถ้วยอนามัย ซึ่งวิวัฒนาการมาจากแบบสอด

เอาง่ายๆ หลักการของผ้าอนามัย ถ้าต้องสัมผัสในจุดที่ซ่อนเร้นที่ลึกของเรามากๆ และมันมีอะไรที่ไประคายเคือง ถ้าสอดเข้าไป เปลี่ยนตามระยะของมัน ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้านานไป อะไรที่สอดเข้าไปนานไป มันก็จะไม่ดี จำง่ายๆ อะไรที่เป็นของนอกตัวแล้วต้องมาแนบตัวนานไป ไม่ดีแน่

ถ้วยอนามัยทำจากวัสดุที่ปลอดภัยต่อการแพ้ เช่น ซิลิโคนทางการแพทย์ หรือ TPE ที่ใช้ทำจุกนม แต่ทว่าไม่ควรใส่ค้างข้างในช่องคลอดนานเกิน 5 ชั่วโมง และใส่ใจขั้นตอนตั้งแต่การเลือกซื้อ กระทั่งการทำความสะอาดเป็นอย่างยิ่ง

แน่นอน ต้องเลือกยี่ห้อที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของแต่ละประเทศนั้นๆ และแต่ละยี่ห้อจะระบุวิธีการล้างเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ต้องอ่านฉลากก่อนใช้ บางยี่ห้อกอาจบอกใช้สบู่กับนํ้าอุ่น ขณะที่บางยี่ห้ออาจบอกเอาออกมาล้างให้สะอาดแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ พอหมดรอบประจำเดือนก็เอามาต้มในน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อ

“ลองได้” หมอกฤษดาเข้าใจเพศหญิงที่ชอบลองของใหม่

แต่ว่าก่อนลอง ต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเป็นคนไวต่อพวกสารเย็นสารเคมีหรือน้ำหอมทั้งหลายหรือไม่ ต้องรู้ว่าผ้าอนามัยอันนั้นจะโอเคกับเราไหม ถ้าไม่แน่ใจ ก็เลือกแบบที่ปลอดกลิ่น สารเคมีน้อยที่สุด

ถ้วยอนามัยและผ้าอนามัยแบบซักได้ด้วยเช่นกัน ถ้าถูกจริตกับเรา ไม่ขี้เกียจซักล้าง ไม่กลัวการสอดใส่ ไม่ผวาการเห็นเลือด ไม่รังเกียจกลิ่นคาว ก็อาจใช่สำหรับคุณ

จุดซ่อนเร้นของผู้หญิงนั้นค่อนข้างอ่อนไหว ดังนั้นอะไรก็ตามที่ต้องสัมผัสตรงจุดนั้น อย่างผ้าอนามัย ต้องระวังให้ดีครับ มีโอกาสนำเชื้อนำช็อคได้ครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน