สุขภาพกับสิทธิบุคคล

ปมขัดแย้งเหล้าเบียร์

คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

โดย…วงค์ ตาวัน

สุขภาพกับสิทธิบุคคล ปมขัดแย้งเหล้าเบียร์ – เริ่มได้ยินเสียงบ่นของผู้คนมากขึ้น ว่ามาตรการให้คนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อไวรัสนั้น ทุกคนเข้าใจดีและร่วมมือกันด้วยดี แต่ทำไมรัฐบาลจึงไม่ช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ช่วยให้คนที่ยอมอยู่บ้าน ได้อยู่อย่างมีความสุขด้วย

อย่างเช่น ดูหนังฟังเพลงอยู่กับบ้าน แต่ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เอามาดื่มในบ้านได้ ทั้งที่แค่ดื่มคนเดียว หรือดื่มแค่คนในครอบครัวไม่กี่คน ไม่ใช่การนัดปาร์ตี้สังสรรค์

แต่นี่ห้ามขายเหล้าเบียร์มานับเดือนแล้ว และกำลังมีข่าวว่าจะบังคับไม่ให้คนได้ซื้อมาดื่มต่อไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน!?

ถ้าชีวิตเขาดื่มมาตลอดแค่พอให้มีความสุข ไม่ใช่ดื่ม จนเมาเละเทะ จู่ๆ วันหนึ่งเกิดวิกฤตโควิด ทำให้ทุกคนต้องทิ้งระยะห่างทางสังคม

ต้องอยู่ลำพังหรือแค่กับคนในครอบครัวภายในบ้าน แล้วยังไม่ยอมให้ซื้อหาเครื่องดื่มมาดื่มอีก

จะไม่ให้คนเก็บตัวในบ้านอย่างมีความสุขตามความเคยชินได้บ้างเลยหรือ!!

นอกจากไม่มีเน็ตฟรี ค่าน้ำไฟก็ไม่ฟรีแล้ว

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังไม่ให้ซื้อมาดื่มกินได้อีก

ทั้งที่สังคมเราไม่ใช่สังคมหุ่นยนต์ เป็นสังคมมนุษย์และมีสิทธิเสรีภาพส่วนตัว

ไม่ใช่สังคมคอมมิวนิสต์หรือสังคมเผด็จการ ที่รัฐเข้ามาควบคุมประชาชนได้ทุกย่างก้าว

ไม่ใช่สังคมที่รัฐจะสั่งชาวบ้านว่าต้องดูข่าวสารได้แค่ไหน เข้าอินเตอร์เน็ตได้เฉพาะที่กำหนด ดูหนังฟังเพลงเฉพาะประเภทอะไร

และสามารถดื่มได้หรือไม่ได้!?!

ขณะเดียวกัน รัฐต้องเข้าใจให้ดีว่า การต่อสู้เรื่องเหล้าเบียร์ในสังคมไทยเรานั้น มีข้อขัดแย้งแตกแยกที่ไม่ธรรมดา

ไม่ได้พูดถึงปัญหาทางธุรกิจของเหล้าเจ้าสัวทั้งหลาย แต่หมายถึงแนวปฏิบัติ ระหว่างองค์กรที่มีภารกิจด้านนี้ รวมถึงคณะหมอผู้ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับคนในสังคม ที่เห็นว่าเครื่องดื่มเหล่านี้ เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล

จะเห็นได้ว่าในเทศกาลหยุดยาว มีความพยายามรณรงค์ให้เลิกขายเหล้าเบียร์ทั้งปีใหม่และในสงกรานต์

พยายามมาหลายเทศกาลแล้ว แต่ยังทำไม่ได้ เพราะขัดแย้งกับกระแสของคนส่วนใหญ่ และเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมากเกินไป!?

ดูเหมือนในสถานการณ์โควิด การผลักดันห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มเหล่านี้ สามารถรุกคืบอย่างได้ผล เพราะคนส่วนใหญ่กำลังหวาดผวาโรคระบาด

ถึงขั้นมีคนในกลุ่มนี้บางคน แสดงความดีอกดีใจ ที่สงกรานต์ปีนี้ หยุดการสังสรรค์ การดื่มได้

แล้วถึงกับจะปักธงล่วงหน้าว่า สงกรานต์ปีหน้าก็น่าจะมีมาตรการแบบพ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้อีก

นี่คือประเด็นขัดแย้งทางสังคม ที่เชื่อมโยงกับสิทธิส่วนตัวของประชาชน ที่รัฐบาลต้องมองให้ออก!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน