ย้อนดูคดี 99 ศพ

ยังไม่เคยพิจารณาในศาล

คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

โดย…วงค์ ตาวัน

ย้อนดูคดี 99 ศพ ยังไม่เคยพิจารณาในศาล – ยิ่งมีการตอบโต้ ยิ่งทำให้กระแส “ตามหาความจริงคดี 99 ศพ” อยู่ในความสนใจมากขึ้น อีกทั้งการเรียกร้องให้ตามหาความจริง เป็นการกระตุกทั้งสังคมไทยฉุกคิดว่า ทำไมการปราบปรามม็อบด้วยกระสุนจริง จนตายไปร่วมร้อย มีภาพนิ่งมีวิดีโอปรากฏมากมาย แต่ทำไมความจริงยังไม่ปรากฏ

อีกไม่กี่วันจะถึง 19 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสลายการชุมนุมอย่างเบ็ดเสร็จ

และทิ้งท้ายด้วย 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ที่ศาลได้ชี้ผลการไต่สวนชันสูตรศพแล้วว่า ตายด้วยปืนทหารที่ยิงจากรางรถไฟฟ้าหน้าวัดและอีกชุดยิงจากพื้นราบหน้าวัด

คงมีการรำลึก ทวงความเป็นธรรม ด้วยผลการไต่สวนชันสูตรศพชัดขนาดนั้น แต่คดีก็เงียบหายไปเฉยๆ

ดังนั้นใครก็ตามที่ตอบโต้ว่า ความจริงมีอยู่แล้วอยู่ในกระบวนคดีที่ยังดำเนินอยู่ หรือที่ปกป้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าไม่หนีคดีไม่นิรโทษ เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และป.ป.ช.รวมทั้งศาลชี้แล้วว่าไม่ผิด

ข้อเท็จจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น และเป็นเหตุให้ยังต้องมาตามหาความจริงกันต่อไป!!

ที่ว่าข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถึงวันนี้ คดีที่หาคนรับผิดชอบต่อการปราบม็อบด้วยกระสุนจริง ไม่มีคดีใดสามารถเข้าสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมเลย

ดังตัวอย่างคดีที่ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ด้วยข้อกล่าวหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

เป็นคดีแรกที่สามารถนำขึ้นสู่ศาลอาญาได้

แต่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ฐานะนายกฯและรองนายกฯ จึงต้องไต่สวนโดยป.ป.ช. ไม่ใช่ฟ้องเป็นคดีอาญา

ศาลอาญาพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว จึงมีคำสั่งยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า คดีนี้เป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกระบวนการป.ป.ช. ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาแต่อย่างใด

เท่ากับศาลอาญายกฟ้อง ด้วยเห็นว่าไม่มีอำนาจรับฟ้อง!!

จะเห็นได้ว่า คดีนี้ยังไม่ทันได้พิจารณา ยังไม่ทันได้สืบพยาน พิสูจน์ความจริงในศาลเลย

ที่สำคัญในคำสั่งของศาลอาญาดังกล่าว ได้แนบความเห็นของนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ไว้ในสำนวนด้วย

โดยระบุว่า ไม่เห็นชอบต่อคำพิพากษาดังกล่าว แต่เห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนี้

ทั้งเห็นด้วยว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดิน

ข้อความตอนหนึ่งในคำแย้งของอธิบดีศาลอาญาได้ชี้ว่า

เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ก็ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คดีถึงที่สิ้นสุด

เพื่อให้ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตัดสิทธิฟ้องของโจทก์และผู้เสียหายเช่นนี้

เป็นบทสรุปที่กระจ่างชัด!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน