ปีติ‘สมเด็จเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา’ เสด็จฯสกลนคร ทรงเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงติดตามการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ และการป้องกันบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการ ที่จังหวัดสกลนคร

วันที่ 21 ก.ย. เวลา 11.19 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปยังโรงเรียนบ้านนาแก อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ทรงเยี่ยมและพระราชทานอุปกรณ์กีฬา หนังสือ และสิ่งของพระราชทานแก่ผู้แทนครู และนักเรียน จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการของโรงเรียนฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กแห่งแรก ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีการพัฒนารอบด้าน จนได้รับรางวัลพระราชทานต่อเนื่อง 3 ครั้ง นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ตามโครงการสถานศึกษาปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี ของกระทรวงแรงงาน

ที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ควบคู่การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกัน และระงับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งมีการเชื่อมโยงขยายผลสู่ชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการวางรากฐานการพัฒนาความรู้ ดำเนินการโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ที่เน้นให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้ สร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และยังจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ ปัจจุบัน มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 รวม 99 คน ก่อนเสด็จกลับ ทรงเยี่ยมประชาชนที่ไปเฝ้ารับเสด็จด้วย

เวลา 11.50 น. เสด็จไปยังหอประชุมองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสกลนคร หลังเก่า อำเภอเมือง ทรงเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดสกลนครซึ่งมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย ได้สนองพระดำริด้านการเฝ้าระวังป้องกันภัย หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุเซินกา เมื่อปี 2560 สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน ทรัพย์สิน และสิ่งสาธารณประโยชน์ นับเป็นเหตุอุทกภัยร้ายแรงที่สุดของจังหวัด ในรอบ 43 ปี

โดยร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดสกลนคร เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤต ในยามเกิดอุทกภัยร้ายแรง จะยกระดับเป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดสกลนคร ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พุทธศักราช 2550 โดยศูนย์ฯ แห่งนี้จะสนับสนุนทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ทำให้สามารถวางแผนเตรียมรับมือภัยพิบัติล่วงหน้า พร้อมจัดทำรายงานสถานการณ์น้ำ แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยชุมชนเพื่อนพึ่ง ภาฯ ตำบลวาใหญ่ และตำบลอากาศ

โอกาสนี้ ทรงเป็นประธานที่ประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้จำลองสถานการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ที่คาดว่าพายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอบบน และพบว่าในอีก 24 ชั่วโมง พายุจะเข้าสู่อำเภออากาศอำนวย จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์

ในการนี้ มีพระดำรัสชื่นชมการทำงานของทุกภาคส่วน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและทรงติดตามสถานการณ์อุทกภัยโดยตลอด

จากนั้น เสด็จไปยังสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดสกลนคร หลังเก่าทรงโบกธงอักษรพระนาม “พภ” ปล่อยขบวนหน่วยปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการ โดยทุกหน่วยงานเคลื่อนย้ายสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ ไปประจำการในพื้นที่อำเภออากาศอำนวย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พายุจะเคลื่อนผ่านในการจำลองสถานการณ์

ในตอนบ่าย เสด็จไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร อำเภอพังโคน พระราชทานพันธุ์ครามแก่สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ทอผ้าคราม และทอดพระเนตรนิทรรศการ การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมหาวิทยาลัยฯ เคยเป็นศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อปี 2560 และเป็นเครือข่ายเพื่อการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนของมูลนิธิฯ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้มอบถุงยังชีพพระราชทาน รวม 8,584 ถุง จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ประกอบอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัย 30,500 ชุด มอบคลังยา คลังอาหาร และเงินช่วยเหลือ พร้อมสนับสนุนไก่ปรุงสุกแช่แข็ง 500 กิโลกรัม เพื่อนำไปประกอบอาหาร โดยศูนย์ประสานงานฯ ยังได้แจกจ่ายอาหารสำเร็จรูปและน้ำดื่มแก่ผู้ประสบภัย แจกจ่ายหญ้าแห้งเพื่อนำไปเลี้ยงโค-กระบือระหว่างประสบอุทกภัย

รวมทั้งบริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิฯ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟอกย้อม และการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่กลุ่มผ้าคราม และยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ผ้าคราม นอกจากนี้ ได้ร่วมกับเครือข่าย นำผลงานและเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ การเฝ้าระวังป้องกันภัย และการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนของมูลนิธิฯ ในอนาคต

เวลา 16.05 น. เสด็จไปยังบริเวณหนองโสก บ้านวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย ทรงฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการบริหารน้ำชุมชนตำบลวาใหญ่ สภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร ร่วมกับคนในชุมชน โดยมี มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การมหาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน เดิมบริเวณหนองโสก มีพื้นที่เพียง 3 ไร่ เชื่อมต่อกับลำห้วยโสกที่มีสภาพเสื่อมโทรมตื้นเขินทำให้เกิดน้ำท่วมขังนานในฤดูน้ำหลาก และแห้งขอดในฤดูแล้งอย่างซ้ำซาก พืชไร่และข้าวเสียหายจำนวนมาก จึงได้เริ่มขุดลอกหนองโสก และฟื้นฟูลำห้วยโสก ตามโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อต้นปี 2562 มีชาวบ้านบริจาคพื้นที่และเป็นกำลังสำคัญเนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ โดยมีความก้าวหน้าร้อยละ 70 ปัจจุบันหนองโสกมีพื้นที่ 30 ไร่ กักเก็บน้ำได้ 42,000 ลูกบาศก์เมตร ฟื้นฟูขยายและขุดลอกลำห้วยโสกระยะทาง 2 กิโลเมตร ก่อสร้างฝายกึ่งถาวร และก่อสร้างอาคารน้ำล้น เพื่อเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำต้นน้ำของหนองโสกอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสำรองน้ำไว้ใช้ในพื้นที่การเกษตรได้ถึง 3,500 ไร่ รวมทั้งส่งเสริมให้ราษฎรใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำเกษตรผสมผสานทั้งนาข้าว ข้าวโพด และพืชสมุนไพร เกิดประโยชน์แก่ชุมชนกว่า 100 ครัวเรือน โอกาสนี้ ทรงปล่อยพันธุ์ปลาไทย 9 ชนิด ลงในหนองโสกเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งอาหารของชุมชน

จากนั้น เสด็จไปยังแปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ของนางนิตยา วงศ์วันดี ตำบลวาใหญ่ ในการนี้ ทรงฟังบรรยายการดำเนินงานเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เริ่มดำเนินการในปี 2558 บนพื้นที่ 12 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็น ที่อยู่อาศัย, ปลูกไม้ยืนต้น อาทิ มะม่วง มะนาว และมะพร้าว อีก 1 ไร่เป็นแหล่งน้ำ ที่มีการบริหารจัดการน้ำโดยต่อท่อ

จากโครงการขุดลอกลำห้วยโสก ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย จัดซื้อระบบกระจายน้ำ นำน้ำเข้าสระเพื่อสำรองไว้ใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้งและหน้าฝน ได้ผลผลิตดี เหลือพอจำหน่ายให้กับแม่ค้า ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 8,500 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร ได้คัดเลือกเกษตรกรในตำบลวาใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรต้นแบบ ร่วมทำเกษตรทฤษฎีใหม่ รวม 6 ครอบครัว ได้แก่ นางนิตยา วงศ์วันดี เกษตรกรต้นแบบ, นางสาวนพณัช งวงคำนาม, นายวิรัตชัย อินธิสิทธิ์ มีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นแหล่งน้ำ 3 บ่อ มีรายได้ 12,000 บาทต่อปี จากการทำนา ปลูกผักตบชวา และบัว นายพัฒนะ วงศ์วันดี, นายมาโนช ผายดี และนายเจริญ เคี่ยงคำผง มีพื้นที่ทั้งหมด 18 ไร่ ปลูกผักก้านจอง, กระชาย และเลี้ยงปลานิล ปลายี่สก สำหรับเป็นวัตถุดิบทำขนมจีนน้ำยาไว้จำหน่าย เป็นการปลูกพืชผัก ลดต้นทุนและช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างยั่งยืน โอกาสนี้ ทรงให้อาหารปลา ก่อนเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ

เวลา 17.19 น. เสด็จไปยังสะพานลำน้ำยาม อำเภออากาศอำนวย ทรงฟังบรรยายการดำเนินงานของเครือข่ายเตือนภัยชุมชน เพื่อนพึ่ง ภาฯ ชุมชนตำบลวาใหญ่ และตำบลอากาศ ซึ่งจากการจำลองสถานการณ์ในวันนี้ ได้เกิดฝนตกหนักทำให้ลำน้ำยาม มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ชุมชนริมลำน้ำยามบริเวณอำเภออากาศอำนวยมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เครือข่ายเตือนภัยชุมชน เพื่อนพึ่ง ภาฯ ซึ่งผ่านการอบรม และได้รับวิทยุสื่อสารพระราชทาน จะติดตามข้อมูลของสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ซึ่งติดตั้งบริเวณสะพานลำน้ำยาม เพื่อดูระดับน้ำผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และแจ้งเตือนภัยชุมชนเพื่ออพยพ เช่น แจ้งทางวิทยุสื่อสาร โดยแต่เดิมชาวบ้านจะอาศัยสังเกตระดับน้ำจากรูปปั้นปลา เมื่อขึ้นสูงถึงปากปลา จะแจ้งเตือนภัยเพื่ออพยพ

จากนั้น เสด็จไปยังรถ Mobile War Room ณ ที่ว่าการอำเภออากาศอำนวย ทอดพระเนตรการฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการ และการสั่งการของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดสกลนคร ในการอพยพประชาชนทั้งทางเรือ และรถ เช่น จากสะพานลำน้ำยาม มายังศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่ว่าการอำเภออากาศอำนวย ซึ่งรองรับได้ประมาณ 300 คน เมื่ออพยพประชาชนมาแล้ว จะดำเนินการคัดกรอง เช่น ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ต่อไป เช่น หน่วยแพทย์, โรงครัวประกอบอาหาร และกิจกรรมอาชีวบำบัด ที่ผ่านมาเครือข่ายเตือนภัย ชุมชน เพื่อนพึ่ง ภาฯ ชุมชนตำบลวาใหญ่ และตำบลอากาศ ได้นำความรู้จากการอบรมถ่ายทอดจากเครือข่ายรุ่นสู่รุ่น มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถเฝ้าระวังน้ำและแจ้งเตือนให้ชาวบ้านยกของขึ้นที่สูง เป็นการเฝ้าระวังป้องกันภัย ตามพระดำริ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน