จากกรณีเมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 19 มิ.ย. เกิดเหตุหญิงตั้งครรภ์ตกรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีบ้านทับช้าง ก่อนโดนรถไฟทับจนเสียชีวิตสลด ต่อหน้าต่อตาผู้โดยสารที่กำลังยืนรออยู่จำนวนมาก

สำหรับความคืบหน้า นายวิสุทธิ์ จันมณี รักษาการกรรมการผู้อำนวยการบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัดเปิดเผยว่า แอร์พอร์ตลิ้งค์ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้โดยสารที่เสียชีวิต ซึ่งเมื่อเวลา 06.52 น. ทางเจ้าหน้าที่ชานชลาได้กดปุ่มฉุกเฉิน ต่อมาเวลา 06.55 น. ได้รับแจ้งว่ามีผู้โดยสารได้ก้าวเดินออกมาจากหลังเส้นเหลืองแล้วพลัดตกลงไปในราง จากนั้นจึงประสานตำรวจให้มาตรวจชันสูตรพลิกศพ หลังจากชันสูตรเสร็จสิ้นแล้วได้ส่งศพผู้เสียชีวิตไปที่นิติเวช ร.พ.ตำรวจ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

นายวิสุทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัยได้คำนึงถึงความปลอดภัย โดยได้กดปุ่มฉุกเฉิน สำหรับพนักงานชานชลาหากมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น นอกจากนั้นในตัวรถไฟฟ้ามีการกดปุ่มเพื่อที่จะหยุดรถกะทันหันได้ทันทีเช่นกัน ซึ่งในความรักษาความปลอดภัยเราได้คำนึงถึงเป็นลำดับแรก นอกจากนั้นได้ทำฉากกั้นชานชาลา ซึ่งขณะนี้มีอยู่ที่สถานีสุวรรณภูมิอยู่แล้ว ส่วนสถานีอื่นๆ จะมีการติดตั้งในอนาคต ซึ่งอยู่ระหว่างการหาผู้รับเหมา คาดว่าเดือนเมษายน พ.ศ.2561 จะเริ่มติดตั้งในสถานีแรกให้แล้วเสร็จ และสถานีอื่นอีก 7 สถานีจะทยอยติดตั้งให้แล้วเสร็จในลำดับต่อไป

นายวิสุทธิ์ เปิดเผยต่อว่า จากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่าผู้โดยสารได้อยู่หลังเส้นเหลือง ก่อนจะก้าวเดินออกมา 3 ก้าว จากนั้นได้ตกลงไปในราง ขณะนั้นมีผู้โดยสารท่านอื่นยืนห่างจากผู้เสียชีวิตประมาณ 2 ฟุต จึงไม่มีใครอยู่ใกล้ที่จะเบียดได้ ในเบื้องต้นจะมีการเยียวยาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเรื่องของค่าทำศพ

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการ ผู้อำนวยการบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า ก่อนที่ผู้โดยสารจะตกลงไปขบวนรถกำลังเข้ามาที่สถานีทับช้างระยะห่างประมาณ 50 เมตร ซึ่งการกดปุ่มฉุกเฉินเบรกกะทันหันต้องใช้ระยะห่างประมาณ 120-130 เมตร รถจึงจะหยุดนิ่ง ส่วนสาเหตุจะต้องรอผลการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตามทางบริษัทแอร์พอร์ตลิ้งค์มีประกันให้กับผู้โดยสารอยู่แล้วกรณีการเสียชีวิตวงเงิน 400,000 บาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ผลของคดีที่ออกมา นอกจากนี้หลังจากที่ได้ผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้วจะเริ่มการติดตั้งฉากกั้นชานชลา โดยปกติจะทำการติดตั้งในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งใน TOR ได้กำหนดเวลาให้ทำในระยะเวลา 3 ชั่วโมง ก็จะดำเนินการช่วยให้การทำฉากกั้นเสร็จรวดเร็วขึ้น โดยจะมีการปรับรูปแบบขบวนรถโดยไม่กระทบผู้โดยสารและไม่กระทบต่อการซ่อมบำรุงรางให้ช่างได้เข้ามำงานในพื้นที่ได้เร็วขึ้น ก็จะช่วยให้การสร้างฉากกั้นในสถานีที่เหลือเสร็จรวดเร็วขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน