ศบค.ลุยตรวจหาเชื้อเพิ่ม 4 กลุ่มเสี่ยง ตั้งเป้าทั่วไทยมากกว่า 1 แสนราย หลังพบผู้ป่วยใหม่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แต่ไม่แสดงอาการ จะพบก็ต่อเมื่อตรวจหาเชื้อ

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สรุปการใช้งานแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พ.ค. เวลา 21.00 น. พบว่า ภาพรวมการใช้งานยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ 1.จำนวนร้านค้าลงทะเบียนจำนวน 120,953 ร้าน 2.จำนวนผู้ใช้งาน 14,719,447 คน และ 3.จำนวนการเข้าใช้งาน การเช็กอิน 38,851,693 ครั้ง / เช็คเอาท์ 25,830,131 ครั้ง / ประเมินร้าน 14,980,678 ครั้ง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า การนำกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 มาเปิดในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เช่น สนามมวย ร้านนวด แต่สิ่งที่จะบอกได้ในมุมกว้างคือ 1.ห้างสรรพสินค้าที่เปิดกิจการแล้วทำได้ดี ไม่มีผู้ติดเชื้อในกิจการ สร้างความมั่นใจได้ ก็อาจจะได้เปิดร้านภายในห้างได้มากขึ้น 2.กีฬา ที่ป้องกันโรคสร้างเสริมสุขภาพ ที่จะเปิดประเภทกีฬามากขึ้น รวมถึงการซ้อมกีฬาของนักกีฬา

3.การลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวลง ที่จากเดิม 23.00-04.00 น. อาจลดให้น้อยลง 4.การเปิดกิจการ/กิจกรรมระยะที่ 3 จะต้องเข้าสู่การลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ที่ได้พัฒนามากจากแพลตฟอร์มเดิม เพื่อความสะดวก รวมถึงประชาชนที่จะเข้าใช้บริการจะต้องให้ความร่วมมือในการใช้แอพด้วย

ทั้งนี้ โฆษก ศบค. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปใด จะต้องรอการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 29 พ.ค. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม แต่อย่างก็ตามกิจการ/กิจกรรมที่มีความตื่นตัวก็เป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้เจ้าของกิจการสามารถนำเสนอมาตรการลดความเสี่ยงต่อ ศบค.ได้ และอยากจะให้มีการเปิดกิจการให้มากที่สุด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การพบผู้ป่วยจำนวนน้อย รวมถึงพบผู้ป่วยใหม่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศและไม่มีอาการ จะพบเชื้อต่อเมื่อตรวจหาเชื้อ ซึ่งเป็นความห่วงหนึ่ง โดยการตรวจหาเชื้อในประเทศไทยตรวจไปแล้วกว่า 3 แสนราย

แต่จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้สภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หารือกันว่าจะต้องตรวจหาเชื้อเพิ่ม และค้นหาการติดเชื้อในประชาชนกลุ่ม/สถานที่เสี่ยง ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ 2.ผู้ต้องขังแรกรับ 3.กลุ่มอาชีพที่พบปะกับคนจำนวนมาก และ 4.กลุ่มอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ชุมชนแออัด ศูนย์พักพิง โรงงาน โรงเรียน เจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยคาดการณ์ว่าจะต้องตรวจให้ได้มากกว่า 1 แสนราย

“ขณะนี้การผ่อนคลายของรัฐฯ จึงมีข้อกำหนดของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ไม่มีไข้ แต่จมูกดมกลิ่นไม่ได้ / มีอาการคล้ายไข้หวัด / มีไข้ มีเพียงอาการใดอาการหนึ่ง สามารถเข้ารับการตรวจได้ทันที ทางสาธารณสุขยินดีตรวจให้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน