ยันไทยปลอดภัย จากแอมโมเนียมไนเตรทระเบิด เผยคุมเข้มทุกขั้นตอน

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. จากกรณีเหตุระเบิดช็อกโลก ที่ประเทศเลบานอน จาก แอมโมเนียมไนเตรท ในปริมาณ 2,750 ตัน ที่จัดเก็บอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมในคลังสินค้าที่ท่าเรือเป็นเวลา 6 ปี ทำลายพื้นที่เมืองหลวงของเลบานอนเป็นวงกว้างในรัศมีไกลถึง 10 กิโลเมตร

ในส่วนของประเทศไทย นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการขนถ่ายสินค้าแอมโมเนียไนเตรตผ่านทางเรือน้อยมาก ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบมีการขนถ่ายล็อตล่าสุด เมื่อวันที่ 22ม.ค.ปี’62 โดยบริษัทIRPC จำกัด ที่ท่าเรือ IRPC7 บริเวณท่าเรือมาบตาพุด โดยในปีนี้ยังไม่พบว่ามีการขนถ่ายสินค้าดังกล่าวผ่านทางเรือแต่อย่างใด

สำหรับสินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในหมวดของวัตถุอันตรายประเภทที่1 ซึ่งมีระดับความอันตรายสูงสุด เพราะเป็นสารที่เสี่ยงต่อการระเบิดหากจัดเก็บไม่เหมาะสม โดยหากจะมีการขนถ่ายสินค้าดีงกล่าวผ่านทางเรือ ผู้ขนถ่ายจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456

ซึ่งกำหนดให้ ผู้ขนถ่ายต้องขออนุญาติทำการขนถ่ายผ่านทางเรือ และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการขนถ่ายสินค้าอันตรายตาม IMDG CODE หรือประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง สิ่งของอันตรายทางน้า (International Maritime Dangerous Goods Code : IMDG CODE) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization หรือ IMO)

เช่น นายเรือจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เกี่ยวกับการโหลดและขนถ่ายสินค้าอันตรายลงเรือ ,ต้องมีการแยกการจัดเก็บบนเรืออย่างถูกต้อง อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก เป็นต้น

ขณะที่ นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่าปัจจุบันมีบริษัท ไนเตรทไทย จำกัดเป็นผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ผลิตแอมโมเนียมไนเตรทในประเทศเพียงรายเดียว

ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงกลาโหมในการดำเนินการทั้งการออกใบอนุญาตนำเข้า/ส่งออก ครอบครอง และเพื่อทำการค้าใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 อย่างเคร่งครัด หากไม่ปฏิบัติตามถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ปัจจุบันมีโรงงานภายใต้กำกับของ กรอ. ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ในส่วนของประเภทโรงงานที่ต้องทำประเมินความเสี่ยงลำดับที่ 48 (4) คือ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำไม้ขีดไฟ วัตถุระเบิด หรือดอกไม้ไฟ หรือการทำคาร์บอนดำ ที่ใช้สารแอมโมเนียมไนเตรทเป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตเพียง 9 ราย

ซึ่งกรอ.มีการตรวจโรงงานเป็นประจำทุกปี ควบคู่กับการให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยงส่งให้กรอ.ตรวจพิจารณาด้วย

ยืนยันโรงงาน 9 แห่งภายใต้กำกับของกรอ.ได้ส่งรายงานประเมินความเสี่ยงให้กรอ. พิจารณาแล้ว ซึ่งทุกแห่งผ่านข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์การควบคุมและกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง ในประกาศของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ.2547

โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำหน้าที่ดูแลกำหนดระยะห่างระหว่างอาคารผลิตดอกไม้เพลิงและอาคารอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ควบคุมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์และระบบไฟฟ้า ดูแลการเก็บรักษา การป้องกันการระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ เพื่อควบคุมไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือุบัติเหตุ เป็นต้น

ปัจจุบันผู้ประกอบการที่ใช้สารแอมโมเนียมไนเตรทเป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต 9 ราย กระจายอยู่ในจังหวัดสระบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ชัยนาท และนครราชสีมา

รายงานข่าวแจ้งว่าบริษัท ไนเตรทไทย จำกัด หรือ TNC เป็นผู้ผลิตกรดไนตริกและแอมโมเนียมไนเตรทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเพียงรายเดียว ก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2537 เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด มหาชน และ Dyno Industrier ASA, ประเทศนอร์เวย์

บริษัทเริ่มต้นการผลิตในปี 2539 โรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยองครอบคลุมพื้นที่ 48,000 ตารางเมตร โดยโรงงานได้รับการออกแบบและก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดของ Uhde (ประเทศเยอรมัน) และ KT (ประเทศฝรั่งเศส)

ปัจจุบันมีกำลังการผลิตแอมโมเนียมไนเตรทมากกว่า 100,000 ตันต่อปี และกรดไนตริก 86,000 ตัน100%ต่อปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน