เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร (พช.พระนคร) กรมศิลปากรมีการแถลงกรณีประเด็นการบูรณะวัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร ตามที่มีการแชร์ในโลกโซลเชี่ยมีเดีย โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในการแถลงข่าว กล่าวว่าการบูรณะพระปรางค์ถูกต้องตามหลักวิชาการทุกประการ โดยพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร เป็นโบราณสถานที่มีชีวิต ดังนั้นการบูรณะในครั้งนี้เน้นเก็บข้อมูลอย่างละเอียด และบูรณะในเชิงศิลปะกรรม ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เหมือนในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 2 โดยเริ่มบูรณะมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี2560

 

ทั้งนี้ การอนุรักษ์ความเก่าไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่จะต้องให้มีความสมบูรณ์ โดยข้อมูลและก่อนการดำเนินการกรมศิลปากรได้ตระหนักเรื่องของการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด รวมถึงการสำรวจลวดลายสภาพโครงสร้างทั้งหมด สภาพงานศิลปกรรม โดยการดำเนินงานอนุรักษ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ได้มีการเก็บข้อมูลทั้งที่เป็นข้อมูลภาพนิ่ง ภาพถ่ายแบบ 3 มิติ และลายเส้นพระปรางค์ประธานและองค์ประกอบ เพื่อให้การบูรณะเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยส่วนของลวดลายจากการสำรวจได้เก็บข้อมูลทั้งหมด 120 ลวดลาย

ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ประเมินถึงส่วนที่จะต้องมีการ บูรณะใหม่ โดย มีร้อยละ 40 และอีกร้อยละ 60 ยังคงลวดลายเดิมเอาไว้ เนื่องจากสภาพก่อนการบูรณะ อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม หากมองจากระยะไกล แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบ จะพบชิ้นส่วนที่มีการแตกร้าวพุพอง โดยกรมศิลปากรได้ตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนการดำเนินงาน ซึ่งส่วนใดมีการชำรุดก็จะต้องดำเนินการเปลี่ยน แต่ส่วนของลวดลายที่ยังคงมีความแข็งแรงก็ยังคงอยู่ ซึ่งหากมีการทำความสะอาดเสร็จก็จะต้องมีการชำระ คราบตะไคร่ ซึ่งหลังจากชำระแล้วก็จะพบว่ามีส่วนที่เป็นสีขาว โดยเป็นเรื่องปกติ

 

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าลวดลายขององค์พระปรางค์นั้น ไม่เหมือนแบบเดิม อธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันว่าได้เก็บรายละเอียด ก่อนการบูรณะทั้งหมดแล้ว ซึ่งไม่ได้ต่างจากลายก่อนบูรณะมาก แต่รายละเอียดในบางส่วนที่ปูนเข้าไปทับ ตามขอบ เส้นต่างๆ ตามลายเซรามิค อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแต่ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด ยืนยันยังคงเดินหน้าดำเนินการตามแผนหากส่วนใดแก้ไขได้ก็จะแก้ไข ทั้งนี้ การบูรณะองค์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหารจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2560 ส่วนกระแสข่าวว่ามีการนำชิ้นส่วนกระเบื้องเก่า ไปทำเป็นวัตถุโบราณ นั้นกรมศิลปากรไม่ได้ทำ และได้มอบให้กับทางวัดอรุณทั้งหมด แต่หากทางวัดจะนำไปทำก็สามารถที่จะทำได้เนื่องจากเป็นสมบัติของทางวัดโดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของวัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน