เมื่อวันที่ 28 ต.ค.พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังติดตามสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ และรับทราบรายงานปริมาณน้ำเหนือที่ จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง โดยเจ้าหน้าที่ได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ ช่วยลดปริมาณน้ำและเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยืนยันว่าไม่มีแผนจะเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นายกฯ เป็นห่วงเรื่องการส่งต่อข้อมูลกันในโซเชียลมีเดียในเรื่องดังกล่าว จึงย้ำว่าแม้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มขึ้นและเอ่อล้นเข้าท่วมบางพื้นที่ใน จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา รวม 14 จุด และน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาได้ไหลลงมาถึง จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกทม.แล้ว แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างที่เป็นข่าว

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่สถานีระบายน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีอัตราการไหลเฉลี่ย 2,826 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งยังต่ำกว่าความจุของลำน้ำบริเวณ กทม.และปริมณฑล ที่รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที เช่นเดียวกับคลองรังสิตที่แม้จะต้องรับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมน้ำผ่านอาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำได้ จึงไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก

นอกจากนี้ ประชาชนต้องระมัดระวังการส่งต่อเอกสารราชการที่เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำด้วย เนื่องจากมักมีการตีความเนื้อหาที่ผิดพลาด ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งๆ ที่จริงแล้วข้อความส่วนใหญ่ที่ปรากฏในเอกสารนั้น มุ่งเน้นการแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบข่าวเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้า และแนวทางการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยเป็นสำคัญ

“นายกฯกำชับไปยังหน่วยงานราชการว่า หากต้องสื่อสารหรือแจ้งข้อมูลแก่ประชาชนจะต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและชัดเจน เช่น ระบุพิกัดพื้นที่ (อำเภอ ตำบล) ปริมาณน้ำ และข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้อง พร้อมทั้งขอให้พี่น้องประชาชนเข้าใจและปรับตัวต่อภัยพิบัติ โดยร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งและร่วมแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต

สำหรับพื้นที่ประสบภัยในขณะนี้ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ และจังหวัด ได้เร่งระบายน้ำออก เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด โดยใช้เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเรือผลักดันน้ำ ขณะเดียวกันได้ออกให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบเฉพาะหน้า เช่น การอพยพและมอบถุงยังชีพและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเตรียมมอบเงินชดเชยความเสียหายแก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ตามระเบียบของทางราชการต่อไป

ขณะที่เว็บไซต์ http://flood.gistda.or.th/ ของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมปริมาณน้ำ ที่อัพเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ต.ค. โดยจะเห็นว่ามวลน้ำส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ สุพรรณบุรี โดยมาประชิดติดกับ จ.นครปฐม จ.นนทบุรี และ จ. ปทุมธานีแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน