เผยที่มา ‘นรสิงห์’ ตั้งระเบียงตึกไทยคู่ฟ้า-ทำเนียบฯ หวังช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ตั้งไว้เมื่อต้นปี 2564 ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก เพื่อหวังให้สถานการณ์ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการเผยแพร่ภาพรูปปั้นนรสิงห์ ตั้งสักการะบูชา บริเวณระเบียงด้านหน้าชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า

ล่าสุดแหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า รูปปั้นองค์นรสิงห์ดังกล่าว นำมาตั้งไว้ที่ระเบียงตึกไทยคู่ฟ้าตั้งแต่ต้นปี 64 ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งข้าราชการ เจ้าหน้าที่และสื่อสารมวลชนไม่ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ช่วงดังกล่าวคาดว่าการนำองค์จำลองนรสิงห์มาตั้งสักการะบูชานั้น เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย โดยเฉพาะเชื้อโควิด-19 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก

โดยองค์นรสิงห์จำลองดังกล่าวมีศิลปินที่เคารพนับถือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้โรงหล่อจัดทำขึ้นและนำมามอบให้ เพื่อสักการะบูชาตั้งแต่ต้นปี 64 เพียงแต่หลายคนอาจไม่ได้สังเกตเห็น เนื่องจากอยู่สูงบนชั้น 2 ของระเบียง ซึ่งแต่ละวันเจ้าหน้าที่บนตึกไทคู่ฟ้าจะถวายพวงมาลัย เพื่อสักการะ

แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาลเผยว่า สำหรับองค์นรสิงห์เดิม ซึ่งเป็นของต้นตระกูล พึ่งบุญ ณ อยุธยา นั้น (เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้รับพระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าวจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) ปัจจุบันอยู่ในการดูแลเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ตำนานบ้านนรสิงส์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นรสิงห์ หรือนรสีห์ ในคำสันสกฤต เป็นอวตารร่างที่ 4 ของพระนารายณ์ตามเนื้อเรื่องในคัมภีร์ปุราณะ อุปนิษัท และคัมภีร์อื่นๆ ของศาสนาฮินดู มีร่างกายท่อนล่างเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนบนเป็นสิงโต นรสิงห์เป็นผู้สังหารหิรัณยกศิปุ อสูรตนซึ่งได้รับพรจากพระพรหมว่าจะไม่ถูกสังหารโดยมนุษย์หรือสัตว์ นรสิงห์เป็นที่รู้จักและบูชาโดยทั่วไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน