ทนายเจมส์ ส่งมอบ “อิชช่า” ให้กรมวิทย์ ช่วยตรวจหาสารไซบูทรามีน มั่นใจที่ อย.ตรวจเป็นของปลอม ยันแจ้งความเอาผิดของลอกเลียนแล้วตั้งแต่ มี.ค.
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2567 ที่สธ. นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในการรับมอบหนังสือจาก นายนิติธร แก้วโต หรือทนายเจมส์ ทนายความของบริษัท ITCHA(อิชช่า) ที่มีดาราดัง เบนซ์ พรชิตา และมิค บรมวุฒิ เป็นพรีเซ็นเตอร์
พร้อมนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ จากล็อตการผลิตในเดือน ก.พ.-เม.ย.67 ที่ได้จากโรงงานที่รับผลิตสินค้า และตัวอย่างสินค้าลอกเลียนแบบที่ได้มาจากการล่อซื้อ มาให้กับทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบสารไซบูทรามีน โดยประชุมหารือกันราว 1 ชั่วโมง ก่อนออกมาแถลงต่อสื่อมวลชน
โดย นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า วันนี้ทนายเจมส์ได้นำสินค้า มาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบ เรื่องการปนเปื้อนของสารไซบูทรามีน ซึ่งต้องย้ำว่า เมื่อมีการร้องขอให้ตรวจตัวอย่างใด ก็จะมีการตรวจสอบ และยืนยันผลการตรวจ ให้เฉพาะตัวอย่างที่มีการร้องขอให้ตรวจเท่านั้น
ทั้งนี้ การมายื่นหนังสือให้ตรวจสอบสินค้าในครั้งนี้ ทางทนายเจมส์และเจ้าของแบรนด์ ได้นำตัวอย่างสินค้าลอกเลียนแบบ และสินค้าของทางบริษัท มาให้ตรวจว่ามีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือไม่ จึงเชิญตัวแทนจากกรมวิทย์ คือนพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
และ ภก.สมศักดิ์ สุนทรพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด มารับตัวอย่างดังกล่าวไปตรวจ โดยจะใช้เวลาตรวจอย่างน้อย 7–10 วัน ส่วนผลออกมาอย่างไร จะไม่ไปกระทบกับสำนวนของการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ที่กำลังดำเนินการทางคดีความ แต่เป็นการยืนยันเฉพาะสินค้าที่เราได้รับมาตรวจเท่านั้น
ด้าน นพ.พิเชฐ กล่าวว่า ในเรื่องการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมน้ำหนัก มักจะมีพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่เป็นสารต้องห้าม เพราะเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภทที่ 1 ก็คือไซบูทรามีน เนื่องจากสารชนิดนี้จะไปกดประสาททำให้ไม่หิว และมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจ
ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการใช้สารดังกล่าว ทั้งนี้การตรวจของกรมวิทย์ จะมีการยืนยันผลตรวจเฉพาะตัวอย่างนั้น อย่างในวันนี้ทางบริษัทฯได้นำตัวอย่างสินค้ามา เป็นเลขที่อะไร ล็อตการผลิตใด เมื่อผลตรวจออกมาก็จะรับรองเฉพาะตัวอย่างชิ้นนั้น แต่จะไม่ได้รับรองสินค้าทั้งโรงงาน ทั้งล็อต หรือทั้งที่วางขายทั้งหมด
ขณะที่ ทนายเจมส์ กล่าวว่า สินค้าที่นำมาส่งตรวจ เป็นล็อตการผลิตของเดือน 2 เดือน 3 และเดือน 4 ซึ่งนำมาจากโรงงาน เพราะบริษัทไม่ได้เก็บสต๊อก แต่โรงงานจัดส่งให้ และยังมีผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบมา ทั้งนี้ของบริษัทที่นำส่งขาดเดือนม.ค. เนื่องจากหมดไปแล้ว ซึ่งยอดสั่งจองเยอะมาก จนยอดขาดตลาด ทำให้มีของปลอม
พบว่า มีการใช้ล็อตเลขการผลิตเดียวกันหมด เราตรวจเจอเดือน มี.ค. จึงมีการประกาศว่า ล็อตการผลิตวันที่ 10 ม.ค.2567 เป็นของปลอม ประกาศตั้งแต่เดือนมี.ค. และมีการแจ้งความไปหลายครั้ง เพราะล่อซื้อหลายครั้ง ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว แต่ยังชี้แจงให้ทราบไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับคดี
“เดือนมี.ค. เราเห็นมีของปลอม ก็มีการล่อซื้อ พบว่ามีการลอกเลขการผลิตของเดือน ม.ค.2567 มาทั้งหมด ซึ่งเมื่อทราบ ทางบริษัทเรียกสินค้า และเปลี่ยนแพคเกจใหม่ เหมือนที่เคยแถลงไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางเราได้ยกเลิกเลขการผลิตของเดือนมกราคมไปแล้ว
ดังนั้น หากเจอผลิตภัณฑ์เลขล็อตเดือนมกราคมขอให้แจ้งจับได้ทันที ส่วนการนำมาตรวจสารครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่าของบริษัท ทำถูกต้อง เนื่องจากโรงงานที่ผลิตทำหลายแบรนด์ หากทำไม่ดีก็กระทบหมด
เมื่อถามว่าหลังจากมีเหตุการณ์นี้ ได้คุยกับอย.หรือไม่ว่าสินค้าที่ตรวจมาจากไหน ทนายเจมส์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย แต่ต้องขอบคุณ อย. เพราะเราทราบมีของปลอม ประกาศแจ้งเตือนตลอด แต่ไม่มีความคืบหน้า แต่พอ อย. ประกาศ พวกของปลอมปิดหมด ซึ่งสินค้าที่อย.นำส่งตรวจที่ล่อซื้อมา คิดว่าเป็นของปลอมชัวร์ ปลอมแน่ เพราะดูจากกล่อง แพคเกจไม่ใช่ของบริษัทอย่างแน่นอน