เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ‘หมอหม่อง’หรือนพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักเคลื่อนไหวในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ระบุถึงกรณีที่นายปวิน ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ภาพวาด 3 บูรพกษัตริย์ ในสภาพสวมหน้ากากกันมลพิษ ว่า “ว่าจะอดทนยอมรับสภาพ ไม่โวยวายเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาโวยวายไป ตนก็ไม่อาจช่วยหาทางออกที่มีประสิทธิภาพได้ ด้วยปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศนี้มีหลากหลายมิติจนมิอาจแก้ไขได้โดยง่ายเหมือนใจหวัง”

การศึกษาที่ผ่านมา ชี้ชัดว่า มลพิษทางอากาศมีผลร้ายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เพิ่มอัตราเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด มีผลกระทบต่อพัฒนาการในเด็ก หรือแม้แต่ มีผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนด

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือแม้ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้

มีหลายปัจจัย โดยบางปัจจัยนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้

แต่สำหรับ ผลกระทบที่เกิดจากมลพิษทางอากาศแล้ว ไม่มีใครที่หลีกเลี่ยงได้เพราะทุกคนต้องหายใจ ผลกระทบในระดับประชากรจึงรุนแรงนัก

แม้ผมยังไม่สามารถเสนอทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรมได้ในขณะนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นมาตลอดว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงคือ ความเข้าใจและตระหนักในระดับของความรุนแรงของปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ยังมีน้อย รวมถึงทัศนคติของหน่วยงานรัฐ ที่มีต่อปัญหาหมอกควันพิษ (apathy)

ผมเชื่อว่าประชาชนอีกมากที่ยังไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงภยันตรายทั้งระยะสั้นและระยะยาวของมลพิษทางอากาศ มากพอจนให้เกิดแรงผลักดันเปลี่ยนแปลงทางสังคม

สิ่งที่ประชาชนผู้รับชะตากรรม ไม่สบายใจคือ

1. ประชาชนไม่อาจมีความ เชื่อมั่น ข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่รายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศจนต้องลุกขึ้นพึ่งพาตนเองสร้างเครือข่ายติดตามสภาวะสภาพอากาศด้วยตัวเอง

2. ผู้ที่เจตนาดี เสียสละลุกขึ้นช่วยรณรงค์สร้างความตระหนักให้ประชาชน ก็ถูกภาครัฐ มองเป็นศัตรู ให้งดกิจกรรมรณรงค์ไม่พอ ยังทำเรื่องกล่าวโทษฟ้องร้องว่าทำเสื่อมเสียภาพลักษณ์

3. จริงอยู่ว่า หลายคนอาจรู้สึกว่าการเผยแพร่ภาพ บรรพกษัตริย์ (แห่งอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ) สวมหน้ากากพิษเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ตามธรรมเนียม (แม้เป็นเรื่องปกติในสากล)
แต่หากมองเจตนา ของผู้เผยแพร่ นั้นที่สุดไม่ใช่การลบหลู่ แต่ต้องการสร้างความตระหนักให้กับสังคม
เพื่อหวังให้เกิดการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ในทุกภาคส่วน

4. ผู้บริหารภาครัฐ โดยเฉพาะทางจังหวัด เป็นห่วงแต่ภาพพจน์ของตนเอง มากกว่า สุขภาพประชาชน

ประชาชนรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่รัฐทำตัว เหมือนมีอำนาจล้นฟ้า ไม่ฟังเสียงประชาชน เอะอะก็บอกจะฟ้องร้อง มองประชาชนเป็นศัตรู

5. หลายคนเกรงว่าหากสร้างความตระหนัก จะเกิดความตระหนก ส่งผลลบในด้านผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

ผมกลับมองว่า ในฐานะเจ้าบ้านผู้มีความรับชอบ

เราควรแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนถึงสถานการณ์ความรุนแรงของสภาวะมลพิษทางอากาศอย่างตรงไปตรงมา

อยากให้เขาเห็นว่าเราคำนึงถึงความปลอดภัยสุขภาพของเขามากกว่าเงินในกระเป๋าของเขา

ผมเชื่อว่า โดยวิธีคิดแบบนี้แม้เราอาจสูญเสียรายได้ไปบ้างในระยะสั้น แต่ชื่อเสียงของเราในการเป็นเจ้าบ้านที่รับผิดชอบจะสร้างความเชื่อมั่น ความรู้สึกที่ดี ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจท้องถิ่นของเราในระยะยาว

6. ผมขอชื่นชม ผู้บริหารคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะแจกหน้ากากให้กับบุคลากรทุกคน ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ เป็นตัวอย่างหน่วยงานทางสุขภาพ ที่ชี้นำสังคม ในทางที่ถูกต้อง อยากให้หน่วยงานราชการอื่นทำบ้าง

แม้แทบจะสิ้นหวัง

แต่ผมยังเชื่อว่า สังคมที่เจริญแล้ว คือสังคมที่ยอมรับความจริง ไม่หลีกเลี่ยงปัญหา ระดมสติปัญญาในการค้นหาต้นตอแท้จริง และวางแผนแก้ไขในระยะยาวอย่างเป็นระบบ โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และขบวนทางสังคมที่มีส่วนร่วมจากทุกๆคน

ด้วยความรักและหวังดีจริงๆครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน