‘บิ๊กตู่’อำนาจเต็ม! เปิดโครงสร้างศอฉ.โควิด-ตั้ง 8 ศปก. หลังใช้พรก.ฉุกเฉิน ยันไม่ปิดปท.

โควิด -บิ๊กตู่ / เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมครม. เพื่อป้องกันโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างการประชุมว่า

เกาะติดข่าวโควิด กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account
เพิ่มเพื่อน

“วันนี้ไม่ได้อยู่ด้วยกันทั้งหมด แต่ใจถึงใจ เพราะครม.ทำงานร่วมกันมานาน” จากนั้นเมื่อถึงช่วงท้ายการประชุมนายกฯ กล่าวว่า “วันนี้ผมก็ขออำนาจครม. เพื่อประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะขณะนี้สถานการณ์มีความจำเป็น”

จากนั้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วนายกฯจะมีอำนาจมากขึ้นในการประกาศหรือทำอะไร หรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ อำนาจอยู่ที่นายกฯ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมครม. เพื่อขอมติครม. และไม่ใช่เป็นการปิดเมือง ปิดจังหวัด ปิดประเทศ เพราะคนไทยยังต้องเดินทางกลับมา ซึ่งที่ประชุมทุกคนเห็นด้วย

ระหว่างการประชุม พล.อ.ประยุทธ์สอบถามที่ประชุมว่าใครมีอะไรจะเสนอแนะหรือไม่ โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า อยากให้ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพียง 1 เดือนก่อน แม้อำนาจการประกาศจะมีถึง 3 เดือนก็ตาม โดยมาตรการเบื้องต้นในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะพยายามหยุดการเคลื่อนย้ายของผู้คนให้อยู่กับบ้านให้มากที่สุด ทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชนและประชาชน ควบคู่มาตรการทำงานเหลื่อมเวลา

นายสาธิต กล่าวในที่ประชุมอีกว่า ส่วนมาตรการเปิด-ปิดสถานที่เสี่ยง ยังคงเป็นไปตามประกาศของผู้ว่าฯกทม.และผู้ว่าฯแต่ละจังหวัด และยังคงผ่อนผันให้เปิดตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และสถาบันการเงิน เป็นต้น ขณะที่การเดินทางของประชาชนนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจ โดยเฉพาะรอยต่อของแต่ละจังหวัดอย่างเข้มข้น

สำหรับมาตรการเบื้องต้นที่ได้พูดคุยกันในครม.หลังประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาทิ การไม่เข้าพื้นที่เสี่ยง (ประกาศกทม.) การไม่ข้ามเขตจังหวัด (คำแนะนำ) การปิดสถานที่เสี่ยง (กทม.-ทั่วประเทศให้พิจารณา) การปิคช่องทางเข้าประเทศ (คนไทย) ชาวต่างชาติออกนอกประเทศได้ มาตรการสำหรับบุคคลบางประเภท (ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก) ห้ามกักตุนสินค้า ให้เปิดทำการ การเตรียมพร้อม (สถานที่แพทย์)

ในส่วนของศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ตั้งขึ้นเมื่อประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และนายประทีป กีรติเลขา รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง เป็นเลขานุการศูนย์ฯ โดยมีสำนักเลขาธิการศูนย์ฯ มีคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์และคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจ เป็นองค์ประกอบ

ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะมี 1.ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขดูแล

2.ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม พลเรือน ตำรวจ ทหาร ดูแล

3.ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูแล

4.ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดโควิด-19 มีสำนักนายกรัฐมนตรีดูแล

5.ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ มีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และ สตม.ดูแล

6.ศูนย์กระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขดูแล

7.ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า มีกระทรวงพาณิชย์ดูแล

8.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนการปฏิบัติของทหาร-ตำรวจ มีกองบัญชาการกองทัพไทย-ทบ.-ทร.-ทอ.และตร.ดูแล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน