สงขลาห้ามเข้า 5 พื้นที่เสี่ยง 3 อำเภอ

ปิดพื้นที่เสี่ยง วันที่ 7 เม.ย. ที่ ศาลากลาง จ.สงขลา ได้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา เพื่อพิจารณาเรื่องของการออกคำสั่งขยายเวลาสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว และการห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกัน สกัดกั้นและยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยมี นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน

โดยมีการพิจารณาเรื่องการห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง มติให้ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา ฉบับที่ 15/2563 ลงวันที่ 7 เม.ย.63 เรื่องห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ได้มีการประกาศห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยงในเขตพื้นที่ อ.สิงหนคร ประกอบด้วย ชายหาดม่วงงามตลอดแนว ชายหาดจันทร์สว่าง หาดแก้วจุลดิศ และสวนสาธารณในเขตเทศบาลเมืองสิงหนคร โดยห้ามประชาชนรวมกลุ่มเข้าไปทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกันตั้งแต่เวลา 18.00 น. – 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ในเขตพื้นที่ อ.ควนเนียง ห้ามประชาชนเข้าไปรวมกลุ่มเข้าไปทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกันในพื้นที่หาดปากบางภูมี และสวนสาธารณบริเวณชายหาด หมู่ 3 ต.รัตภูมิ ตลอด 24 ชั่วโมง ในเขตพื้นที่ อ.บางกล่ำ ห้ามประชาชนเข้าไปรวมกลุ่มเข้าไปทำกิจกรรม หรือการมั่วสุ่มกันบริเวณพื้นที่สวนสาธารณเฉลิมพระเกียรติ (พรุนางตุง) ตลอด 24 ชั่วโมง จนถึงวันที่ 30 เม.ย.63 หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีมติให้ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา ฉบับที่ 14 เรื่อง การขยายเวลาสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยมีสาระสำคัญให้มีการขยายเวลาปิดสถานที่ ในคำสั่งที่ 2/2563 เรื่องปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 23 มี.ค.63 นับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.-12 เม.ย. เป็นการขยายเวลาปิดเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 13–30 เม.ย.63 สำหรับสถานที่ที่ขยายเวลาสั่งปิดเป็นการชั่วคราวมีดังนี้

1.ร้านอาหาร โดยรวมถึงร้านอาหารที่อยู่ในคูหา รถเข็น แผงลอยจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหารในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรมหรือจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น หรือทางร้านได้จัดให้มีที่นั่งรับประทานแยกเป็นสัดส่วน มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร) ทั้งนี้ให้ทำเครื่องหมายเว้นระยะการเข้าคิวซื้อสินค้า การชำระค่าบริการสินค้าหรือ การเข้ารับบริการต่างๆ อย่างน้อย 1 เมตร รวมทั้งควบคุมผู้เข้าใช้บริการไม่ให้มีความแออัด

2.ห้างสรรพสินค้า ยกเว้น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา หรือสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหารและร้านเครื่องดื่ม (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น) พื้นที่ตั้งของธนาคารและตัวแทนผู้ให้บริการ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรือระบบสื่อสาร ที่ได้รับสัญญาสัมปทานของรัฐ ทั้งนี้ให้ทำเครื่องหมายเว้นระยะการเข้าคิวเพื่อรอรับบริการ อย่างน้อย 1 เมตร รวมทั้งควบคุมผู้เข้าใช้บริการไม่ให้มีความแออัด

3.พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ 4.ตลาดและตลาดนัด ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้ให้ทำเครื่องหมายเว้นระยะการเข้าคิวซื้อสินค้า การชำระค่าบริการสินค้าหรือการเข้ารับบริการต่างๆ อย่างน้อย 1 เมตร

5.ร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม ตัดเล็บ (ยกเว้นร้านที่ไม่จัดที่นั่งคอยหรือร้านที่ได้จัดให้มีที่นั่งคอยให้แยกเป็นสัดส่วนมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตรและรับลูกค้าได้ครั้งละไม่เกิน 2 คน) ทั้งนี้ให้จัดเก้าอี้นั่งตัดผมให้มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร 6.สถานที่บริการผิวหนังหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย 7.ศูนย์พระเครื่อง พระบูชาและสนามพระเครื่อง พระบูชา 8.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมและสถานที่จัดนิทรรศการ และ 9.สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน