สธ.จัดหน่วยเฉพาะกิจฉุกเฉิน รับส่งโควิดรุนแรง-ตกค้างเข้าศูนย์นิมิบุตร ก่อนกระจายส่งต่อ รพ.ตามอาการ พร้อมเดินหน้า Home Isolation เพิ่ม รพ.สนาม 3 จุด

วันที่ 7 ก.ค.64 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังการประชุมผู้บริหาร สธ. ว่า วันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สธ.มีอาการไข้เล็กน้อย จึงได้เข้าร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์จากที่บ้าน โดยที่ประชุมหยิบยกเรื่องการแก้ปัญหาสถานการณ์เตียง และผู้ป่วยที่รอรักษาในทุกระบบ โดยให้มีหน่วยเฉพาะกิจฉุกเฉินเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค

โดยให้สายด่วน 1669 ร่วมกับอาสาต่างๆ ประสานรับส่งผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงในที่ต่างๆ มาที่ศูนย์แรกรับนิมิบุตรโดยเร็ว รวมถึงกลุ่มตกค้างต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการดูแล หรือที่สายด่วน 1668 ยังจัดการไม่ได้ หรือปัญหาอะไรก็ตามก่อนหน้านี้เข้ามา โดย รพ.บุษราคัม จะเปิดกว้างมากขึ้นในจำนวนที่พร้อมรับผู้ป่วยจากศูนย์นิมิบุตรเข้ามาด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงเวลานี้

“ขณะเดียวกันมีการดูสถานที่หลายแห่งทำเป็นศูนย์คล้าย รพ.บุษราคัม หรือรองรับการถอนบุษราคัมออกไปจุดนี้ด้วย เพื่อเป็นศูนย์รวมในการจัดการผู้ป่วยแต่ละประเภท ทั้งเขียวเหลืองแดง เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเริ่มสูงขึ้นใน กทม.และปริมณฑลเพื่อรองรับสถานการณ์ ตอนนี้ศูนย์นิมิบุตรรับผู้ป่วยได้ 200 เตียง พยายามไม่ให้มีผู้ป่วยค้างเยอะ จากเดิมมีปัญหาเพราะเติม แต่ตอนนี้รพ.บุษราคัมรับกลับไปเหลือผู้ป่วยประมาณ 100 ราย ก็พยายามให้รับได้มากที่สุด ไม่ให้แอดมิทที่นิมิบุตรและกระจายออกไป แต่สถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อมากกระจายตัวอยู่และยังมีตกค้างอยู่ จะทำให้ดีที่สุด” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวต่อว่า อีกเรื่องคือการดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้านระหว่างรอเตียง (Home Isolation) จะดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด คือ ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ และผู้ป่วยต้องเข้าเงื่อนไขที่กำหนด เช่น เรื่องการแยกตัวเอง การพักอยู่ร่วมกับคนอื่นหรือไม่ และจะมีการติดตามอาการหากรุนแรงขึ้นก็รับกลับ รพ.ต้นสังกัดที่ดูแล ถือเป็นช่องทางเสริมในสถานการณ์นี้ อาจทำใน กทม.และปริมณฑล และนำร่องสำหรับกรณีไปดำเนินในเขตสุขภาพอื่นก็น่าจะแก้ปัญหาได้

นายสาธิต กล่าวแกว่า กรมสุขภาพจิตมีกระบวนการมารองรับสถานการณ์บุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาวะหมดกำลังใจ ทำงานหนัก และมีมาตรการเสริมต่างๆ โครงการที่จะให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จะเดินหน้าเพื่อสร้างขวัญกำลังใจของคนทำงาน หากทำตรงนี้ได้ประชาชนจะมีขวัญกำลังใจดีขึ้น ส่วนเรื่องวัคซีนชัดเจนตั้งแต่เมื่อวาน ที่ ครม.มีมติให้กรมควบคุมโรคเซ็นสัญญาการรับบริจาควัคซีน mRNA ส่วนที่จะซื้อให้ไปต่อรองตามข้อแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นการเพิ่มเติมทางเลือกที่มีคุณภาพ

ถามถึงกรณีผู้ป่วยตกค้างที่บ้านแต่ไม่ได้เข้า Home Isolation จะดูแลอย่างไร นายสาธิต กล่าวว่า เรายังเดินหน้าทำหน้าที่ให้ตรวจที่ไหนไปที่ รพ.นั้น ถ้า รพ.นั้นรับไม่ได้ ต้องส่งต่อ รพ.ต่างๆ สำหรับผู้ป่วยสีเขียว ที่ต้องไปเพิ่มเตียง หรือ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ที่จะเปิดฮอสปิเทลเพิ่มจะดำเนินการต่อไป แต่ศูนย์เฉพาะกิจนี้จะมาช่วยกรณีสีเหลือง ไม่ต้องเข้าระบบมาเป็นของเราเอง เอาอาการรุนแรงไปยังสถานที่รองรับไว้ เพื่อให้เสร็จได้โดยเร็วใน 1-3 สัปดาห์

ถามว่ากลุ่มที่ยังรอเตียงที่บ้านมีมากแค่ไหน นายสาธิต กล่าวว่า จำนวนจริงยังไม่ทราบ แต่มีเยอะ ตอนนี้โทรเข้า 1668 หลัก 5-6 พันราย แต่เรารับได้ 2-3 พันราย และกรณีไม่ได้เข้าระบบคือไปตรวจแล็บเอกชนที่ยังโทรมาไม่ได้ ตอนนี้รอนานมากขึ้นก็ต้องจัดการค่อยๆ ได้รับการดูแลรักษา ถ้าสมัครใจอยู่บ้านได้ก็ดำเนินการ

เมื่อถามถึงกรณีตอนนี้จุดตรวจโควิดรอนานหลายเดือน จะมีการเพิ่มจุดตรวจหรือไม่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า เราเตรียมหลายเรื่อง โดย 1.กทม.เพิ่มจุดตรวจ 4-5 จุด 2.สิ่งที่กังวลคือตรวจแล้วไม่มีสถานที่ให้ไปแอดมิทหากเป็นบวก มาตรการที่ สธ.เห็นชอบ คือ Home Isolation มีคนติดตามดูแล อุปกรณ์วัดไข้ ออกซิเจน ยาเมื่อจำเป็น จะทำให้สถานพยาบาลกลับมาตรวจได้มากขึ้น

และกำลังมีการพิจารณาเรื่องแรพิดเทสต์ด้วยในทางวิชาการ มีการเสนอการหา รพ.สนามเพิ่ม 3 จุด คือ ภาคเอกชนที่อนุญาตใช้สถานที่ 2 จุดฝั่งตะวันออกแถวบางนา สามารถมีได้ 1,000 เตียง และ 500 เตียง ซึ่งจะเป็นสีเขียว 1 แห่ง และเหลือง 1 แห่ง และอีกจุดของราชการที่ทำ รพ.สนามระดับสูงแบบบุษราคัม และเพิ่มไอซียูเข้ามา ประมาณ 5 พันเตียง โดยมอบ สบส.ไปออกแบบ เป็นการเพิ่มเตียงให้กับประชาชนเอกชน

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน