สธ.เผย 1 เดือน คนติดโควิดกลับตจว.เกือบแสนคน อีสานสูงสุด ภาพรวมทั่วประเทศใช้เตียงแล้ว 70% คาด 2 สัปดาห์เข้าสู่ช่วงพีค

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพจกระทรวงสาธารณสุข ถึงการบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ว่า ขณะนี้การติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑลยังมีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งคนที่มาทำงานใน กทม.และปริมณฑลมีภูมิลำเนาต่างจังหวัดจึงเดินทางกลับบ้าน จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 4 ส.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อเดินทางจาก กทม.และปริมณฑลไปในต่างจังหวัดทั้ง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศและเข้ารบบการดูแลรักษาแล้ว 94,664 คน มากกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน คือ เขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 13,022 ราย เขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 13,761 ราย เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 17,293 ราย และเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 9,821 ราย

ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในภาคเหนือ คือ เขตสุขภาพที่ 3 จำนวน 4,447 ราย เขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 5,125 ราย และเขตสุขภาพที่ 3 จำนวน 7,515 ราย ภาคกลางและตะวันออก เขตุสขภาพที่ 4 จำนวน 4,711 ราย เขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 7,871 ราย และเขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 8,691 ราย และภาคใต้ เขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 1,424 ราย และเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 983 ราย

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ช่วงแรกส่วนใหญ่ผู้ป่วยเดินทางกลับด้วยตนเอง มีทั้งที่ติดต่อไปยัง รพ.ปลายทางเพื่อขอรับการรักษา บางคนไม่บอกโดยกลับไปที่บ้านหรือไปพักโรงแรม ซึ่งเป็นความเสี่ยงแพร่โรคให้คนอื่นระหว่างเดินทางหรือไปถึงพื้นที่แล้ว ต่อมาจังหวัดเห็นภาพสถานการณ์จึงมีสายด่วนให้ติดต่อมาก่อนเพื่อรับกลับ ผู้ว่าราชการจังหวัดทำโครงการรับกลับบ้าน บางส่วนท้องถิ่นมาช่วยด้วย เช่น เชียงราย ท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณเอารถบัสมารับถึง กทม.เพื่อส่งกลับไปที่บ้าน และล่าสุดมีนโยบายภาครัฐรับส่งกลับบ้าน เป็นความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายต่างๆ เช่น รับกลับผ่านทางรถไฟ รถบัส ได้หลายพันคน ซึ่งทุกวันนี้กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ยังมีอยู่

“ประชาชนที่จะกลับต่างจังหวัดขอให้ติดต่อประสานงานล่วงหน้า จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง โดยจะได้รับการประเมินอาการว่าอยู่ในระยะใด หากอาการมากอาจจะประสานดูแลก่อนการเดินทาง ส่วนที่เดินทางได้จะได้รับคำแนะนำ เมื่อไปถึงแล้วจะมีเจ้าหน้าที่มาเตรียมรอรับ ทั้งสถานีรถไฟ รถบัส หรือจุดนัดแนะ เพื่อประเมินสภาพผู้ป่วย แยกอาการตามความรุนแรง อาจเอกซเรย์ปอด เพราะหลายคนไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่ติดเชื้อในปอดจะได้เตรียมรักษา”

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า เราจะแยกผู้ติดเชื้อเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.สีเขียว คือ ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการสีเขียว กลุ่มนี้รักษาได้หลายรูปแบบ ที่มีมากที่สุดคือ รพ.สนาม ซึ่งทุกจังหวัดได้เพิ่มเตียง รพ.สนามแล้ว แต่หากเริ่มมีจำกัด จะทำจุดแยกในชุมชน (Community Isolation :CI) ซึ่งบางจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการให้ทุกอำเภอมี CI รวมถึงมีการดูแลรักษาที่บ้าน (Home isolation :HI) โดยประเมินคนที่อาการไม่มาก สภาพบ้านเหมาะสมที่จะทำ HI ได้ก็ให้ดูแลที่บ้าน แต่ถ้าสภาพไม่เหมาะก็ให้อยู่ CI หรือรพ.สนาม บางส่วนไปอยู่ฮอสปิเทลได้ตามที่พื้นที่จัดไว้

2.สีเหลืองพบบางส่วนจะพิจารณารักษาใน รพ. เช่น รพ.ชุมชน โดยอาจกักบาง รพ.เป็น รพ.โควิดโดยเฉพาะ และให้คนไข้อื่นๆ ไปรักษาที่ รพ.อื่นโดยรอบ และ 3.สีแดงหรืออาการรุนแรงมีการพบบ้าง กลุ่มนี้ออกซิเจนในเลือดลดลง มีอาการเหนื่อย ให้รักษา รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป

“ทุกจังหวัดมีคนไข้ติดเชื้อกลับบ้านและให้เราดูแลทั่วประเทศ ตรงนี้เป็นภาระที่ทุกจังหวัดต้องดูแลเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องส่งแพทย์ พยาบาล มาช่วยงาน รพ.บุษราคัม หรือหลายแห่งในกทม.และปริมณฑล อย่าง รพ.บุษราคัมเราเวียนส่งพยาบาล 200-300 คน แพทย์ 100 กว่าคนไปดูแลเวียนกันทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งตอนนี้ รพ.บุษราคัมเปิดหอดูแลผู้ป่วยหนัก 17 เตียง แพทย์เฉพาะทางและพยาบาลไอซียูที่ผ่านการอบรมก็มาจากต่างจังหวัดทั้งหมด แต่ถือว่าเราช่วยกัน ซึ่งพื้นที่ก็รับผิดชอบดูแลคนในพื้นที่เองที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่งมาช่วย กทม. และรับกลับบ้านมารักษา” นพ.ธงชัย กล่าว

เมื่อถามว่าจะกลับไปรักษาภูมิลำเนาต้องเตรียมอย่างไร นพ.ธงชัย กล่าวว่า หารตรวจพบว่าติดเชื้อต้องเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ ลดเชื้อไปติดสิ่งแวดล้อม โดยขอให้ประสานงานให้ชัดเจนก่อน เพื่อประเมินระดับอาการ ติดต่อหารถกลับ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่รับตรงนี้อยู่แล้วประสานได้โดยตรง หรือหากเดินทางด้วยตนเองต้องระวัง เพราะช่วงต้นเราพบคนอาจไม่เข้าใจ ญาติพี่น้องลงมารับกลับไป ปรากฏว่าคนนั่งในรถ 3 คนมารับคนเดียวทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยงและติดเชื้อ

“การเดินทางกลับต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา มีโรคประจำตัวต้องเตรียมยาให้พร้อม หากระหว่างเดินทางมีภาวะฉุกเฉินโทร 1669 อย่าแวะข้างทาง ให้เดินทางตรงไปที่ รพ.ที่ติดต่อไว้ หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำ ให้ล้างมือก่อนและหลังใช้ เพื่อไม่เอาเชื้อไปเปื้อนพื้นผิวห้องน้ำ” นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า

ถามว่าสถานการณ์เตียงต่างจังหวัดเป็นอย่างไร นพ.ธงชัย กล่าวว่า ภาพรวมเตียงทั้ง 12 เขตสุขภาพ ยกเว้น กทม. เรามี 156,189 เตียง ปัจจุบันใช้ไป 114,786 เตียง คิดเป็น 73.49% คงเหลือ 41,185 เตียง อย่างไรก็ตาม แต่ละพื้นที่มีอัตราการครองเตียงต่างกัน โดยเขตสุขภาพที่ 3 และ 4 ครองเตียงเริ่มสูงคือ 70% แต่ภาคเหนือตอนบนเขตสุขภาพที่ 1 ครองเตียง 52% เขตสุขภาพที่ 2 ครองเตียง 64% ส่วนภาคใต้เขตสุขภาพที่ 12 ที่มีการระบาด ครองเตียง 74% ส่วนพื้นที่ที่ครองเตียงเยอะคือเขตสุขภาพที่ 4 5 และ6 ประมาณ 80 % เมื่อดูตามระดับอาการ เตียงสีเขียวเราจัดการได้ เพราะมีทั้งกักตัวที่บ้าน ชุมชน และ รพ.สนาม การขยายเตียงเขียวซึ่งเป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่มีปัญหา

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ส่วนเตียงสีเหลืองยากขึ้น แต่เราใช้ รพ.ชุมชนในพื้นที่้ที่มี 800 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยบางจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากขึ้นก็เอามาเป็น รพ.โควิดโดยเฉพาะ และใช้บุคลากรในหลาย รพ.มาช่วยกันดูแล ทำให้มีเตียงสีเหลืองเพิ่มมาอีกหลายร้อยเตียงขึ้นกับเราต้องการมากแค่ไหน ส่วนคนไข้ละแวกนั้นให้ไปใช้ รพ.ใกล้เคียงที่ไม่ไกลเกินไป เพื่อไม่ให้ประชาชนลำบาก ส่วนที่ยากคือเตียงสีแดง ที่ต้องใช้ออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ ทำให้เตรียมที่ดูแลค่อนข้างจำกัด ซึ่งปกติเรามีคนไข้หนักในไอซียูอยู่แล้ว

“ตั้งแต่การระบาดปีที่แล้วและมีช่วงที่ซาไป รพ.ศูนย์หลายแห่งพัฒนา จากมีห้องแยกไอซียู 7-8 เตียง เพิ่มเป็น 50 เตียง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังสามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ เตียงสีแดงภาพรวมอัตราครองเตียง 75% ยังเหลืออยู่บ้าง นอกจากนี้ สธ.มีนโยบายวางแผนช่วยกันในเขตสุขภาพ ส่งผู้ป่วยข้ามพื้นที่ ซึ่งช่วง 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนจากนี้จะเป็นช่วงพีคของคนไข้ที่กลับไปต่างจังหวัด” นพ.ธงชัย กล่าว

เมื่อถามว่าดูแลบุคลากรอย่างไร นพ.ธงชัย กล่าวว่า การรักษาโควิดฟรีทั้งหมดหมด ส่วนการดูแลบุคลากรรัฐบาลและ สธ.สนับสนุนครุภัณฑ์ต่างๆ มีการพัฒนาเตียง ห้องแยก ห้องความดันลบ เครื่องช่วยหายใจต่างๆ ซึ่ง สธ.ซื้อเตรียมการไว้และที่ได้รับบริจาคด้วยก็จะกระจายไป ส่วนบุคลากรช่วงปกติภาระงานก็ค่อนข้างสูง ช่วงโควิดภาระงานก็สูงขึ้น แต่ช่วงนี้ยังพอรับได้ แต่มีความเหนื่อยล้า เพราะต่อสู้กับโควิดต่อเนื่องยาวนานจะครบ 2 ปีแล้ว ยังไม่มีทีท่าลดลง

นอกจากนี้ ต่างจังหวัดยังส่งทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรมาช่วยงานส่วนกลาง และยังมีคนไข้กลับไปจังหวัดตัวเอง ก.ค.ก็เกือบแสนราย เป็นภาระซ้อนกันสองส่วน แต่เป็นหน้าที่ที่พวกเราทำเต็มที่เพื่อดูแลประชาชนให้อยู่รอดปลอดภัย โดยขวัญกำลังใจผู้บริหาร รัฐบาลพยายามดูแล ซึ่งช่วงวิกฤตคงไม่สบายที่จะไปทำงานโดยไม่มีปัญหา และระยะยาวนานก็เหนื่อยล้า หลายคนเริ่มมีปัญหา กรมสุขภาพจิตมีการวางระบบดูแล

“2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนจะพีคในต่างจังหวัด ซึ่งได้เสนอ สธ.ไปหลายอย่างก็คงได้รับการดูแล ให้ความมั่นใจว่าเราทำงานหนัก ทำอย่างเต็มที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน อีกส่วนหนึ่งที่ทำได้ คือ พยายามแปลงคนที่พอช่วยงานหรือคนที่งานลดบางช่วง เช่น ทันตแพทย์ ที่คนไข้ทำฟันลดลงเพราะเสี่ยง ก็จะถูกแปลงมาใช้งานส่วนอื่น เช่น สวอป ลดภาระแพทย์พยาบาลด้านนี้ไปทำส่วนอื่น หรือเภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุขมาช่วยทำงานเพิ่มเติมหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เพื่อรองรับการทำงานทั้งหมด”

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า โควิดรอบนี้วิกฤตสำคัญฝากประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง และเชิญชวนไปฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เพราะคนเสียชีวิตทุกวันร้อยละ 90 อยู่ในกลุ่มนี้ ทั้งสูงอายุ 60 ปี 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ โดยวัคซีนที่แนะนำรอบหลัง คือซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่าง 3 สัปดาห์ ข้อมูลชัดเจนว่าฉีดแบบนี้ดีกว่าซิโนแวค 2 เข็ม และเท่ากับแอสตร้าฯ 2 เข็ม โดยภูมิต้านทานขึ้นมาเท่ากันแต่ระยะเวลาสั้นกว่าใช้เวลาภูมิขึ้นเต็มที่ 5 สัปดาห์ แต่แอสตร้าฯ 2 เข็มใช้เวลา 12-14 สัปดาห์จะล่าช้าไป ซึ่งจะช่วยฉีดลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน