สธ.ประกาศปิด รพ.บุษราคัม หลังผู้ป่วยโควิดใน กทม.ลดลง รักษาส่งกลับบ้านจนหมด รวม 130 วัน ดูแลรักษา 20,436 ราย ย้ำจากนี้เตียงดูแลใน กทม.มีพอ

วันที่ 23 ก.ย.64 นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ผอ.รพ.บุษราคัม นำทีม รอง ผอ.รพ.บุษราคัม 4 คน แถลงข่าว 130 วัน ปฏิบัติการ รพ.บุษราคัม โดย นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กทม.และปริมณฑลมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่งผลให้เตียงใน กทม.และปริมณฑลไม่เพียงพอ และมีผู้ป่วยตกค้างในชุมชน กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้ง รพ.สนามขนาดใหญ่ คือ รพ.บุษราคัม เพื่อรองรับการดูแลรักษาถุงระดับอาการปานกลาง โดยรับการสนับสนุนพื้นที่จากอิมแพค เมืองทองธานี

โดยเปิดบริการเป็นเฟสจากการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ซึ่งเฟสแรกวันที่ 14 พ.ค. จำนวน 1,100 เตียง เมื่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจึงเปิดเฟสที่สอง วันที่ 28 พ.ค. จำนวน 1,100 เตียง รวม 2,200 เตียง ต่อมา ก.ค.มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากและรวดเร็วจากสายพันธุ์เดลตา จึงเปิดเฟส 3 วันที่ 4 ก.ค. อีก 1,500 เตียง รวมแล้ว 3,700 เตียง ซึ่งเปิดไม่ถึง 5 วันผู้ป่วยก็เข้ามาเต็ม จากเดิมวันละไม่เกิน 100 คนต่อวัน เพิ่มมาเป็น 300-400 คนต่อวัน และเมื่อมีคนไข้อาการหนักมากขึ้น แต่ไม่สามารถส่งต่อ รพ.ศักยภาพสูงกว่าได้ เพราะเตียงเต็มเช่นกัน

ทำให้ รพ.บุษราคัม ต้องดูแลผู้ป่วยเกินกว่าภารกิจ คือ ผู้ป่วยอาการรุนแรงสีแดง บางวันต้องใส่เครื่องช่วยหายใจถึง 200 ตัวต่อวัน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 10 คนต่อวัน ช่วงนั้นจึงขอเปิดหอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน ดูแลอาการรุนแรง 17 เตียง วันที่ 4 ส.ค. ย้ายผู้ป่วยมาไอซียูทันที และมีจำนวนมากต้องใส่เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์ จึงเปิดหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิมอีก 32 เตียงวันที่ 1 ก.ย. ผลการดำเนินการ 130 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. – 20 ก.ย. รพ.บุษราคัม ดูแลผู้ป่วยโควิด สะสม 20,436 คน เป็นผู้ป่วยใน 3 ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 20,289 ราย หอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน 92 ราย และหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม 55 ราย

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ มาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และมาตรการองค์กร และมาตรการส่วนบุคคลในการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงทั้งใน กทม.และปริมณฑล รวมทั้งเกิดนวัตกรรมการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยปรับระบบการดูแลรักษากลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยให้เข้ารับการดูแลรักษาที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation)

ทำให้ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา รพ.บุษราคัมมีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาประมาณ 5-6 รายต่อวัน ขณะที่จำนวนเตียงใน Hospitel, เตียงสีเหลืองและสีแดงในโรงพยาบาลต่างๆ มีเพียงพอ ดังนั้น เมื่อ รพ.บุษราคัม ได้ส่งผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านหมดทุกรายในวันที่ 20 ก.ย. จึงขอปิดให้บริการ รพ.บุษราคัม และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งมี รพ.สนามทั้งของภาครัฐและเอกชนในการดูแลผู้ป่วยหลังจากนี้ต่อไป

“ขอขอบคุณ รมว.สธ. ปลัด สธ.ที่อำนวยการสนับสนุนให้ รพ.บุษราคัม ดำเนินการโดยราบรื่นจนจบภารกิจ ขอบคุณบุคลากร สธ.ทุกกรมทุกสังกัด ทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาคที่มาร่วมปฏิบัติงานในภาวะวิกฤต ด้วยความเต็มใจ แม้จะมีข้อขัดข้องและอุปสรรคบางประการก็ปรับปรุงแก้ไขได้ และขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ในการสนับสนุนงานด้านต่างๆ ขอบคุณประชาชนที่บริจาคอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

ถามว่า กทม.ยังพบผู้ป่วยอยู่ หลังจากไม่มี รพ.บุษราคัม จะไปใช้บริการที่ไหนอย่างไร นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้เรามีความครอบคลุมวัคซีนเข็มแรกใน กทม.มากกว่า 90% ผู้สูงอายุก้มากกว่า 90% คนไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยก็มีระบบดูแลรักษาที่บ้าน มีรพ.สนามเพิ่มขึ้นมาจำนวนมากใน กทม.และปริมณฑล และการขยายโครงสร้างห้องไอซียูดูแลอาการปานกลางถึงหนัก ทั้งร.ร.แพทย์ รพ.ของ กทม. กรมการแพทย์ และเอกชน ทำให้รองรับผู้ป่วยอาการปานกลางและหนักได้มากเพียงพอ ขณะที่การติดเชื้อก็ลดลงตามลำดับเหลือ 2 พันกว่าราย แม้จะลดลงอย่างช้าๆ แต่คนเสียชีวิตลดน้อยลง ให้มั่นใจว่า ระบบการแพทย์ ระบบบริการเตียงผู้ป่วย ดูแลผู้ติดเชื้อใน กทม.มีความมั่นคงและเพียงพอในขณะนี้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน