วงล้อเศรษฐกิจ

จากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดของเดือนเม.ย. ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 1.07% แตะขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นครั้งแรกของปีนี้

ซึ่งเป็นราคาที่ปรับขึ้นจากทุกหมวดหมู่สินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดที่อยู่อาศัยและหมวดคมนาคมขนส่ง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนใหญ่ในตะกร้าเงินเฟ้อ อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากราคาของหมวดอาหารสดและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากขยายตัวติดลบในช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา

โดยหมวดที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 1 ใน 4 ของสินค้าทั้งหมดในตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งองค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในหมวดนี้ ได้แก่ ค่าเช่าบ้านที่ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 3.6% จากที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% มากว่า 4 ปี และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกว่า 6.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560

ในขณะที่หมวดอาหารสดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 36% ใหญ่ที่สุดในตะกร้าเงินเฟ้อ โดยคาดว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ราคาอาหารจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากทั้งราคาน้ำมันและค่าแรง

แต่สาเหตุหลักของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นก็คงหนีไม่พ้นราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยล่าสุดน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 75.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้วจากเฉลี่ยที่ 52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงเดียวกันปีก่อน

มองว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเฉลี่ยที่ 68 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งปีหลัง สูงกว่าราคาเฉลี่ยในช่วงเดียวกัน ปีก่อนกว่า 20%

จากปัจจัยราคาน้ำมันและค่าแรงที่ปรับขึ้น ทำให้คาดว่า ในปี 2561 เงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยที่ 1.1% และเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยที่ 0.7% โดยเงินเฟ้อทั่วไปที่กลับสู่กรอบเป้าหมายแล้ว ประกอบเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี นำโดยการส่งออก ท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของอุปสงค์ ในประเทศ

จะเป็นแรงสนับสนุนให้ ธปท. สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงครึ่งหลังของปี เพื่อเก็บกระสุนไว้รับมือวิกฤตต่างๆ ที่อาจมากระทบเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเตรียมบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้

 

TMB Analytics ธนาคารทหารไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน