วงล้อเศรษฐกิจ : ครัวเรือนกังวลศก.

ครัวเรือนกังวลศก. – ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัว เรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนม.ค. 2562 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 45.5 จากเดิมที่ระดับ 46.0 ในเดือนธ.ค. 2561 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากครัวเรือนไทยบางส่วนมีรายได้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ ฐานของเดือนก่อน

โดยสัดส่วนของครัวเรือนไทยที่มีรายได้ลดลง ในเดือนม.ค. 2562 อยู่ที่ 15.9% เพิ่มขึ้นจาก 5.4% ในการสำรวจช่วงเดือนธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นผลของหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของฐานเปรียบเทียบที่สูงในเดือนธ.ค. 2561 จากผลของมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายใน ช่วงปลายปี 2561 คนละ 500 บาท ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว ที่มีผลเพียงครั้งเดียว

ครัวเรือนกังวลศก.

ประกอบกับครัวเรือนบางส่วนได้รับเงินโบนัส ประจำปีหรือได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ในช่วงเดือนธ.ค. 2561

นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรรายการหลักๆ ที่ปรับตัว ลดลง อาทิ มันสำปะหลังสด ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรในช่วงเดือนม.ค. 2561

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัว เรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากระดับ 47.6 ในการสำรวจช่วงเดือนธ.ค. 2561 มาอยู่ที่ระดับ 46.9 ในการสำรวจช่วงเดือนม.ค. 2562 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนเริ่มมีการวางแผน ใช้จ่ายในรายการพิเศษ อาทิ ท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา ในช่วงเดือนเม.ย. 2562 ที่มีหลายช่วงวันหยุดราชการ นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากมุมมองในปัจจุบันของครัวเรือนที่มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของตนเองมากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่า ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย ตลอดทั้งปี 2562

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน หากทั้งสองประเทศไม่สามารถ หาทางออกร่วมกันได้ก่อนที่สหรัฐจะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มี.ค. 2562 อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังภาคการผลิตและตลาดแรงงานในประเทศ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน