คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

คณะรัฐมนตรีฯ มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์ของคุณสมบัติผู้ใช้สิทธิ์และเงื่อนไขโครงการบ้านประชารัฐ หลังโครงการนี้ดำเนินการมาแล้วครบ 1 ปี แต่ยอดอนุมัติสินเชื่อยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

จึงมีมติเห็นชอบเปลี่ยนการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ จากเดิมกำหนดว่า “ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน” เป็น “ปัจจุบันไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย”

อีกทั้งยังแก้ไขเงื่อนไขของมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับกรณีการกู้เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย จากเดิมที่กำหนดให้รวมราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในการพิจารณา มาเป็นไม่ต้องนำราคาประเมินของที่ดินมารวมด้วย

แม้ว่าการปลดล็อกครั้งนี้จะช่วยขยายปริมาณผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ แต่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2016 ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวนหน่วยเหลือขายที่ระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท เหลืออยู่ทั้งหมดราว 59,700 หน่วย โดยหน่วยเหลือขายที่ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีอยู่ราว 12,000 หน่วย ซึ่งกว่า 90% เป็นคอนโดมิเนียม

แต่ด้วยสภาวะหนี้ครัวเรือนปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูงอยู่ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อการอนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ซื้อรายได้น้อยที่อยากจะเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ จึงเป็นเหตุให้ตลาดระดับล่างคงไม่ถูกกระตุ้นให้ขยายตัวมากนัก

ในขณะที่ผู้ประกอบการมีโอกาสที่จะเข้าร่วมโครงการมากขึ้นด้วย เนื่องจากสภาวะตลาดในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีนัก รวมถึงอัตราการขายเฉลี่ยต่อเดือนไม่สูงมากนัก อยู่ที่ราว 4-5% (ตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท)

จึงต้องเร่งระบายหน่วยเหลือขายสะสมที่มีอยู่ โดยเฉพาะเซ็กเมนต์ระดับล่าง แม้ว่าภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนอง และภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางในปีที่ 1 ที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระนี้ทั้งหมดสำหรับการเข้าร่วมโครงการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน