คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

ผลการเลือกตั้งของประเทศฝรั่งเศส ปรากฏว่า Emmanuel Macron จากพรรค En Marche ผู้มีแนวคิดแบบเสรีนิยมสายกลางและสนับสนุนสหภาพยุโรป เป็นผู้ชนะในการ เลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 25 ของฝรั่งเศส ด้วยคะแนน 66% ต่อ 34%

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ว่าชาวฝรั่งเศสจำนวนมากยังต้องการอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป และคลายความกังวลต่อการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของฝรั่งเศส (Frexit)

ชัยชนะของ Emmanuel Macron เพิ่มมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจยูโรโซนและเศรษฐกิจโลกในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลต่อการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของฝรั่งเศส (Frexit) และกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ลดลง

ประกอบกับนโยบายและการปฏิรูปเศรษฐกิจของ Emmanuel Macron ที่มีทิศทางเป็นบวกต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศส ซึ่งช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจทั่วโลกที่รอความชัดเจนจากการเลือกตั้งในครั้งนี้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความเสี่ยงจากปัจจัยด้านการเมืองในยุโรปยังไม่ผ่อนคลายลงมากนัก เนื่องจากแรงกดดันต่อการเจรจา Brexit อาจรุนแรงมากขึ้น ผลจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของฝรั่งเศสอาจไม่เป็นไปตามคาด รวมถึงการเลือกตั้งผู้นำในเยอรมนีและอิตาลีที่กำลังจะมาถึง

ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการลงทุน และภาคส่งออกไทยที่มีสัดส่วนในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวคิดเป็น 12% ของส่งออกทั้งหมด

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจยังไม่เร่งดำเนินมาตรการทางการเงินแบบเข้มงวด แม้เศรษฐกิจยูโรโซนมีทิศทาง ที่เป็นบวกมากขึ้น แม้ความเสี่ยงจาก Frexit ได้จางลง แต่ปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจา Brexit ยังคงสร้างความไม่แน่นอนให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน

โดยอีไอซียังคงมองว่า ECB จะปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Quantitative Easing: QE) จาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนม.ค.2018 เป็นต้นไป และอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับปกติในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2019

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน