คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ความคาดหวังที่รัฐบาลพยายามทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักความยากจน หรือก้าวข้ามประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 12,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ

และความพยายามของรองนายกฯ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในการดึงนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อมุ่งเน้นอุตสาหกรรมแบบ ไฮ-เทคโนโลยี

ในช่วงแรกดูมีความหวังค่อนข้างมากที่จะได้กลุ่มของอาลีบาบา กรุ๊ป โดยแจ๊ก หม่า เจ้าพ่อตลาดออนไลน์และอภิมหาเศรษฐีที่รวยเป็นอันดับ 1 ของจีน

แต่ดูเหมือนว่าไทยเราจะต้องเหนื่อยอีกพอสมควร เพราะแจ๊ก หม่า ตัดสินใจไปลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่มาเลเซีย ทำให้สีสันแห่งไทยแลนด์ 4.0 ดูหมองไปพอสมควร

เนื่องจากข้อเสนอที่ดีกว่าในหลายด้านของประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะนโยบาย DFTZ หรือ Digital Free Trade Zone ที่แปลเป็นไทยว่าเขตการค้าเสรีดิจิตอล รวมถึงความเสถียรมั่นคงทางด้านการเมือง และความเป็นประชาธิปไตย

แจ๊ก หม่า จึงตัดสินใจตั้งศูนย์กระจายสินค้าประจำภูมิภาคอาเซียนที่มาเลเซีย พร้อมผลักดันมาเลเซียให้เป็น “ศูนย์กลาง E-Commerce” ประจำภูมิภาคอาเซียน

อย่างไรก็ตาม นโยบายรัฐบาลคือ เน้นเทคโนโลยีที่เป็นโลกอนาคต ดังนั้นต่อไปรัฐบาลอาจจะลดการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสายพันธุ์แท้ที่ทำธุรกิจแบบเดิมๆ เทคโนโลยี และแรงงานทักษะต่ำ เช่น สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ โรงงานที่ใช้แรงงานพื้นฐานเป็นหลัก เพราะรัฐบาลต้องการให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ออกไปด้านนอกสู่ประเทศข้างเคียง ให้ไปลงทุนนอกบ้าน และใช้แรงงาน ราคาถูกจากเพื่อนบ้าน

แล้วชาวไทยในภาคการเกษตรจะไปในทิศทางไหน ต้องบอกว่าการแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าสินค้านั้นคือทางออก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์การบรรจุ หีบห่อ การมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ง่ายต่อการขนส่งทางไปรษณีย์ เพราะต่อไปการตลาดออนไลน์ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างน้อยก็ได้อานิสงส์จากมาเลเซีย ที่อาลีบาบาเข้ามาเปิดศูนย์กลางการค้าอีคอมเมิร์ซเอาไว้ การทำผลไม้อบแห้ง การทำมะพร้าวน้ำหอมกระป๋อง หรือมะพร้าวเจียพร้อมดื่ม การทำ ทุเรียนอบ กล้วยตาก กล้วยอบ ข้าวอินทรีย์ ข้าวซ้อมมือ ข้าวหอม น้ำนมข้าว น้ำสำรอง น้ำบัวบก เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องเทศ เครื่องแกงสำเร็จรูป สบู่สปา ยาสีฟัน ฯลฯ

สินค้าเหล่านี้คิดว่าจะไปได้ดีในอนาคตอย่างแน่นอน

บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน