โควิดฉุดส่งออกผลไม้หดตัว

คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

โควิดฉุดส่งออกผลไม้หดตัว – ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและภาวะเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2562 อยู่ในภาวะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม ที่ปรับตัวลดลงกว่า 9.3% (YoY) แต่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกรายสินค้า พบว่า การส่งออกผลไม้ยังคงให้ภาพเป็นบวก มูลค่าการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รวมอยู่ที่ 1.13 แสนล้านบาท เติบโตจาก ปีก่อนหน้า 32.8% (YoY) ซึ่งการส่งออกผลไม้สดเป็นสินค้าส่งออกหลัก คิดเป็นสัดส่วน 80% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้รวม

เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทย พบว่า ประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด โดยการส่งออกผลไม้ไปจีนในภาพรวมทั้งปี 2562 อยู่ที่ 64,536 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าอย่างก้าวกระโดดกว่า 99.2% (YoY)

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ทางการจีนประกาศปิดด่านขนส่งสินค้าสำคัญต่อเนื่องจากการหยุดตามปกติในเทศกาลตรุษจีนจนถึงเดือนก.พ. ตั้งแต่ด่านขนส่งหลักในเขตกวางซีที่เป็นด่านขนส่งผลไม้ที่สำคัญ คุนหมิง เซี่ยงไฮ้

คาดว่าผลกระทบดังกล่าวอาจฉุดรั้งการส่งออกผลไม้ไปจีนทั้งปี 2563 จะหดตัวในช่วง -30 ถึง -25% (YoY) อยู่ที่ระดับ 45,500-48,100 ล้านบาท เปรียบเทียบกับการเติบโตที่ 99.2% ในปี 2562 (YoY) ภายใต้สมมติฐานที่การระบาดของโรคอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ภายใน 3-4 เดือน นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่เริ่มมีการระบาดของไวรัสซึ่งการส่งออกทุเรียนและมังคุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากช่วงไตรมาสแรกของปีเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อทยอยเข้ามาและมีการส่งออกมากที่สุดในเดือนเม.ย.

จากการที่ไทยพึ่งพิงการส่งออกผลไม้ไปยังจีนมากกว่า 57% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้ทั้งหมดประกอบกับประเทศผู้นำเข้าอื่นได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกผลไม้ของไทยทั้งปี 2563 น่าจะหดตัวในช่วง -24 ถึง -21% (YoY) อยู่ที่ 86,300-88,900 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องพิจารณาแผนการตลาดรองรับผลผลิตที่จะทยอยออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นแผนการแปรรูปผลไม้หรือจัดหาตลาดอื่นเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในระยะสั้น

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน